จับตา ‘ดูไบ เวิลด์’ ลุย 'แลนด์บริดจ์' ชูจุดแข็งบริหารท่าเรือ - ธุรกิจน้ำมัน

จับตา ‘ดูไบ เวิลด์’ ลุย 'แลนด์บริดจ์' ชูจุดแข็งบริหารท่าเรือ - ธุรกิจน้ำมัน

“เศรษฐา” พบผู้บริหาร “ดูไบ พอร์ต เวิลด์” ระหว่าง ประชุม WEF เคยเข้าพบ สนข.ปลายปี 66 “พิชัย” ชี้เป็นยักษ์ใหญ่บริหารท่าเรือ - กิจการน้ำมัน โรงกลั่น ท่อส่งน้ำมัน เผยแลนด์บริดจ์มีศักยภาพสร้างโรงกลั่น 5-9 แสนบาร์เรลต่อวัน ต่อยอดปิโตรเคมี โครงการคุ้มทุนเร็ว ชี้แข่งสิงคโปร์ได้

Key Points

  • นายกฯ รัฐมนตรี มีกำหนดในการหารือกับ Dubai Port World ระหว่างเข้าร่วมการประชุม WEF ที่ดาวอส เพื่อหารือโครงการแลนด์บริดจ์
  • Dubai World ที่เป็นบริษัทแม่ของ Dubai Port World เคยมาร่วมการศึกษาสะพานเศรษฐกิจกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551
  • การที่ Dubai World มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนปิโตรเคมี การขนส่งทางท่อและท่าเรือ ทำให้มีความเหมาะสมที่จะเข้ามาร่วมลงทุนแลนด์บริดจ์
  • สนข.ระบุว่าได้เข้ามาขอข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ที่ สนข.ได้ศึกษารอบใหม่ พร้อมทั้งแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์

 

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เป็นโครงการเป้าหมายที่รัฐบาลเร่งผลักดัน เพื่อเชื่อมท่าเรือน้ำลึก 2 จุด คือ 1.ท่าเรือน้ำลึกแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง 2.ท่าเรือน้ำลึก แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โรดโชว์ชักจูงการลงทุนในหลายประเทศ ดังนี้

1.ญี่ปุ่น หารือแหล่งเงินทุนกับ MUFG Bank และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งมีแผนหารือร่วมลงทุนแลนด์บริดจ์กับสายเดินเรือ ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นมีสายเดินเรือขนาดใหญ่ เช่น One

2.จีน หารือร่วมลงทุนแลนด์บริดจ์ เช่น บริษัท ChinaHarbor Engineering Company Ltd. (CHEC) บริษัทก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน , CRRC Group รัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางใหญ่ที่สุดในโลก

3.ซาอุดิอาระเบีย หารือร่วมลงทุนแลนด์บริดจ์กับ Governor of the Public Investment Fund (PIF)

จับตา ‘ดูไบ เวิลด์’ ลุย \'แลนด์บริดจ์\' ชูจุดแข็งบริหารท่าเรือ - ธุรกิจน้ำมัน

ล่าสุดนายเศรษฐา เดินทางเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2567 โดยมีกำหนดร่วมการการประชุม "Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World”เพื่อให้ข้อมูลเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ในไทย

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือผู้บริหารบริษัท Dubai Port World (DP World) บริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่าบริษัท Dubai Port World ถือว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่และเชี่ยวชาญการลงทุนและบริหารท่าเรือทั่วโลก รวมทั้งเป็นเจ้าของท่าเรือหลายแห่ง และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจน้ำมันด้วย

ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีได้หารือเพื่อดึงให้เข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ในไทยถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย เพราะหากบริษัทนี้สนใจมาลงทุนจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก

 

จับตา ‘ดูไบ เวิลด์’ ลุย \'แลนด์บริดจ์\' ชูจุดแข็งบริหารท่าเรือ - ธุรกิจน้ำมัน

“ดูไบเวิล์ด”เหมาะเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้จุดขายสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ต้องทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งจะเกิดได้เมื่อแลนด์บริดจ์ลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งกระทรวงพลังงานเคยศึกษาว่าศักยภาพของแลนด์บริดจ์ลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 5-9 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นมากจากธุรกิจทางตรงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เหมือนที่สิงคโปร์มีรายได้สูงมากจากการเป็นเมืองท่าและบริหารโรงกลั่นน้ำมันซึ่งจากปริมาณการกลั่นของโรงกลั่นในสิงคโปร์ไม่ได้มีสูงกว่าประเทศไทยมากนักแต่ โดยปัจจุบันสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นของโรงกลั่นรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่ากำลังการกลั่นรวมทั้งหมดของประเทศไทยที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไม่มากนักแต่มีรายได้สูงจากธุรกิจนี้ 

“จุดขายของแลนด์บริดจ์นอกจากการขนส่งที่ลดเวลาลงโดยไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา กุญแจสำคัญของโครงการนี้คือการผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันและปิโตรเคมี เพราะปัจจุบันมีเรือน้ำมันที่ผ่านช่องแคบมะละกาอย่างต่ำวันละ 16 ล้านบาเรล ซึ่งรัฐบาลสามารถส่งเสริมไปควบคู่กับการทำคาร์บอนเครดิตและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและจะทำให้โครงการน่าสนใจและคุ้มค่าการลงทุนเร็วขึ้น”

ส่วนกรณีที่บริษัท DP World เป็นบริษัทในเครือ ดูไบเวิลด์ที่เคยร่วมมือและศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ร่วมกับรัฐบาลสมัยพลังประชาชน นายพิชัย ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบันอย่างไร แต่สิ่งที่บอกได้คือหากเกี่ยวข้องกันหมายความว่าโครงการแลนด์บริดจ์ในไทยยังเป็นที่น่าสนใจของกลุ่มทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน

 

“แสดงว่าแม้ระยะเวลาจะห่างกันมากกว่า 10 ปี แต่แลนด์บริดจ์ยังน่าสนใจ ผมอยากให้มีนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนหลายราย เพราะจะทำให้เกิดความคึกคักกับเศรษฐกิจไทยและสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่าโครงการนี้สำเร็จแน่นอน”

ร่วมศึกษาแลนด์บริดจ์ตั้งแต่ปี 2551

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า Dubai World เคยมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ มีการลงนามระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ Dubai World เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 ซึ่งอยู่ช่วงนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ต่อมาถูกยุบพรรค และกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย โดยการลงนามครั้งนี้สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ดูไบ เวิลด์ มาลงนามด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ดูไบเวิลด์สนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง บนชายฝั่งทะเลอันดามันและบนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย วงเงิน 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลขณะนั้นมีเป้าหมายใช้แนวเส้นทางสะพานเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งให้สิทธิการยกเว้นภาษีแก่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงพัฒนาบริการขนส่งบนแนวเส้นทางสะพานเศรษฐกิจ คือ การขนส่งทาง ถนนทางรถไฟและทางท่อ สำหรับ Dubai World ตั้งโดยรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเป็นองค์กรของรัฐในการลงทุนธุรกิจ

“ดูไบเวิล์ด”ประสาน สนข.ขอข้อมูล

นายปัญญา ชูพานิชผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า Dubai World เชี่ยวชาญโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ และการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาช่วย สนข.เริ่มศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ Dubai World แนะนำให้พัฒนาท่าเรือพื้นที่อำเภอท่านุ่น จังหวัดพังงา ซึ่งคนละพื้นที่กับแผนพัฒนาที่ สนข.ศึกษาในปัจจุบัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางเรือ

“Dubai World เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาช่วยไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทจากจีนและอีกหลายแห่งที่มาช่วยศึกษา Dubai World จึงถือเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่เข้าใจและรู้เรื่องแลนด์บริดจ์เป็นอย่างดี”

นายปัญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ Dubai Port World ได้ติดต่อมายัง สนข.เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดผลการศึกษาแลนด์บริดจ์ที่ได้ทบทวนใหม่ ซึ่งครั้งนี้จะพัฒนาในพื้นที่ชุมพร – ระนอง โดย Dubai Port World ก็แสดงความสนใจในโครงการนี้ สอบถามข้อมูล และสนใจที่จะร่วมลงทุน ซึ่ง สนข.ก็มีแผนเตรียมโรดโชว์ไปยังดูไบ เพื่อโปรโมทโครงการและเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในปีนี้ด้วย

ชุมชน“พะโต๊ะ”ชุมพรร้องคัดค้าน

วันที่ 15 ม.ค.2567 ที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร นายสมโชค จุงจาตุรันต์ คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เป็นตัวแทนชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร โดยมีนายธนนท์ พรรพีภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน 

สำหรับการร้องเรียนครั้งนี้ขอให้ประสานงานให้ชาวบ้านได้พบนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะนำคณะรัฐมนตรีมาประชุมสัญจรที่จังหวัดระนอง ในวันที่ 23 ม.ค.2567 ซึ่งเชื่อว่าการมาประชุมดังกล่าวมีนัยสำคัญที่ต้องการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการดังกล่าวได้เดินทางมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2567 ซึ่งประชาชนในพื้นที่แสดงความกังวลมิติต่างๆ และไม่เห็นด้วยหากจะทำโครงการนี้ 

ประกอบไม่กี่วันที่ผ่านมามีคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล 4 คน ลาออกจากคณะกรรมาธิการเพราะไม่เห็นด้วยกับรายงานที่สรุปออกมา โดยระบุว่าเป็นรายงานฉบับตัดแปะและไม่ตอบข้อสงสัยที่เคยตั้งคำถาม ทั้งยังเห็นว่าคณะกรรมาธิการจำนวนหนึ่งมีเจตนาเอนเอียง เพื่อให้ผลการศึกษาสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล 

“เรื่องนี้ได้กลายเป็นเหตุผลที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมานำเสนอข่าวแบบกล่าวหาว่าผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ทั้งหมดล้วนเป็นพวกได้รับการสนับสนุนจาก NGO และรัฐบาลสิงคโปร์ ทำให้ชาวบ้านมองว่ามีทัศนคติเอนเอียง และไม่รับฟังเหตุผลของความคิดที่แตกต่าง”

ดังนั้นจึงต้องการขอพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 ม.ค.นี้ เพื่ออธิบายเหตุผลและข้อเท็จในการคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง จึงขอประสานผ่านมายังผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อประสานงานยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี