7 คำถาม ‘ก้าวไกล’ ถึง ‘แลนด์บริดจ์’  จริงหรือไม่? โครงการคุ้มทุนใน 24 ปี

7 คำถาม ‘ก้าวไกล’ ถึง ‘แลนด์บริดจ์’   จริงหรือไม่? โครงการคุ้มทุนใน 24 ปี

"ก้าวไกล" ตั้ง 7 คำถามถึงกรรมาธิการศึกษาแลนด์บริดจ์ ถามความคุ้มค่า สูตรคิดการคุ้มทุน หลังมองมีการคิดสินค้าในที่ขนส่งในประเทศเป็นสินค้าเทกอง ใช้สมมุติฐานท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือ จุงเปเลปัส ในมาเลเซีย เป็นสมมุติฐาน ชี้อาจไม่คุ้มค่าภายใน24 ปี จี้รัฐบาล - กมธ.ตอบคำถาม

Key points : 

  • นายกฯนำโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยไปโรดโชว์ในเวที WEF ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 
  • ในประเทศกำลังมีการถกเถียงประเด็นแลนด์บริดจ์อย่างมากภายหลังการลาออกจาก กมธ.แลนด์บริดจ์ของพรรคก้าวไกล 
  • พรรคก้าวไกลตั้งคำถาม 7 ข้อถึงความคุ้มค่าและคุ้มทุนของโครงการนี้ โดยเฉพาะประเด็นการคุ้มทุนของโครงการที่คำนวณไว้ที่ 24 ปี 

โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “โครงการแลนด์บริดจ์” อภิมหาโปรเจ็กต์ของรัฐบาลปัจจุบันที่มีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท และเป็นโครงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังได้นำออกไปโรดโชว์เชิญชวนการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลกให้มาลงทุนโครงการนี้ในประเทศไทย รวมทั้งในการเข้าร่วมการประชุม "World Economic Forum 2024" ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 15 – 19 ม.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนด “การประชุม Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World” ด้วย

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยประเด็นเรื่องของแลนด์บริดจ์กำลังเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความจำเป็นและความคุ้มค่าของโครงการ ภายหลังการลาออกจากกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ของพรรคก้าวไกลในการประชุมนัดสุดท้าย โดยระบุเหตุผลว่าได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่สามารถรับรองรายงานแลนด์บริดจ์ร่วมกับกรรมาธิการที่เหลือได้

 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในกรรมาธิการที่ประกาศลาออก โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) @SirikanyaTansa1ว่าตนยืนยันว่าพรรคก้าวไกลเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับท่าเรือระนอง รถไฟทางคู่สำหรับขนส่งสินค้า หรือการสร้างนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ในเมื่อรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ออกมาเป็นเช่นนี้

ขณะที่บทสรุปของรายงานที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยทำ ขัดแย้งกับรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษา ซึ่งมีผลสรุปว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเห็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องตอบคำถามและข้อสงสัยของสังคมให้ชัดเจน ก่อนจะร่วมกันสรุปว่าโครงการนี้คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ หรือจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจใดบ้างหากโครงการนี้ไม่สัมฤทธิ์ผล โดยมี 7 คำถามที่รัฐบาลจำเป็นต้องตอบ ดังนี้

1.โครงการแลนด์บริดจ์ฝากความหวังไว้ที่การถ่ายลำเรือข้ามฝั่งมหาสมุทร 80% ส่วนการขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศไทยมีเพียง 20% ดังนั้น เราจึงต้องโฟกัสเรื่องการคาดการณ์สินค้าที่จะมาถ่ายลำเรือเป็นหลัก โดยในรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ มีการคิดคำนวณเส้นทางเดินเรือจากยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง มายังจุดหมายในเอเชียใต้ด้วย คำถามคือ เส้นทางเดินเรือเหล่านี้จะมาใช้ท่าเรือระนองทำไม ในเมื่อมีท่าเรือที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว และมีการเดินเรือโดยตรงอยู่เป็นประจำ หากไม่มีการเดินเรือจริง จะส่งผลอย่างมากต่อประมาณการตัวเลขการใช้งานโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะยอดส่งออก-นำเข้ารวมกันในเส้นทางนี้ 105.22 ล้านตัน

2.ในรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ มีการคิดคำนวณเส้นทางเดินเรือจากเอเชียตะวันออก ไปยังออสเตรเลียด้วย คำถามคือ เส้นทางเดินเรือนี้จะมาใช้ท่าเรือชุมพรทำไม ในเมื่อมีการเดินเรือไปและกลับจากท่าเรือในออสเตรเลียโดยตรงอยู่แล้ว หากไม่มีการเดินเรือจริง จะส่งผลอย่างมากต่อประมาณการตัวเลขการใช้งานโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะยอดส่งออก-นำเข้ารวมกันในเส้นทางนี้ 29.21 ล้านตัน

3.ในรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ มีการคิดคำนวณเส้นทางเดินเรือจากทวีปต่าง ๆ มายังกลุ่มประเทศอาเซียนตอนใต้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย คำถามคือ เส้นทางเดินเรือเหล่านี้จะมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์ทำไม ในเมื่อเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาใกล้กว่า

7 คำถาม ‘ก้าวไกล’ ถึง ‘แลนด์บริดจ์’   จริงหรือไม่? โครงการคุ้มทุนใน 24 ปี

4.ในรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ มีการรวมสินค้าเทกอง (bulk cargo) เช่น ปูน ไม้ ที่มีความต้องการใช้ภายในประเทศไปด้วยหรือไม่ โดยหากดูสไลด์การนำเสนอของคณะกรรมาธิการฯ จะพบว่ามีการประมาณการรวมสินค้าเทกองเข้ามาด้วย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องขนส่งผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ หากไม่รวมสินค้าประเภทนี้ ท่าเรือฝั่งระนองจะมีประมาณการลดลงเหลือ 3.4 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนฝั่งชุมพรลดลงเหลือ 1 ล้านตู้คอนเทนเนอร์

5.ทำไมรายงานของคณะกรรมาธิการฯ จึงไม่คิดคำนวณต้นทุนเวลาการถ่ายสินค้าจากท่าเรือลงสู่เรือ (transshipment) เพราะหากไม่คิดต้นทุนนี้ เท่ากับว่าจะมีเรือออกจากแลนด์บริดจ์ทุกนาที แต่ในความเป็นจริงต้องคำนวณเวลาในการถ่ายสินค้าจากท่าเรือลงสู่เรือทั้งสองฝั่งด้วย โดยปกติสายเดินเรือจะกำหนดระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ต่อเที่ยว แต่ในรายงานกลับไม่ได้คิดคำนวณเรื่องระยะทางกับเวลาในการขนส่ง ที่รวมเวลาในทะเล และเวลาที่ขนจากท่าเรือลงสู่เรือด้วย

6.สมมติฐานว่าท่าเรือทั้งสองฝั่ง (ชุมพร-ระนอง) จะโตเร็ว โดยใช้ข้อมูลท่าเรือแหลมฉบังเป็นกรณีฐาน และข้อมูลท่าเรือตันจุงเปเลปัสที่มาเลเซียเป็นกรณีสูง นำไปสู่ข้อสรุปว่าเราต้องการท่าเรือความจุ 20 ล้านตันสองท่า แต่ข้อมูลจริงอาจไม่ได้สวยงามอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะท่าเรือตันจุงเปเลปัสโตเฉลี่ยเพียงปีละ 19% ในช่วง 5 ปีแรก มีการลดค่าบริการลง 50% และมีข้อตกลงกับบริษัท MAERSK ว่าจะมาใช้บริการปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตู้

7 คำถาม ‘ก้าวไกล’ ถึง ‘แลนด์บริดจ์’   จริงหรือไม่? โครงการคุ้มทุนใน 24 ปี

และ 7.ด้วยสมมติฐานและประมาณการความต้องการใช้แลนด์บริดจ์ที่สูงเกินจริง ประกอบกับการรวมรายได้ที่ไม่ใช่รายได้ของแลนด์บริดจ์อย่าง Terminal Handling Charge หรือค่าใช้จ่ายในการนำตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือ เข้าไปอีก 2,800 บาทต่อตู้ จึงต้องคำถามว่า ความเหมาะสมทางการเงินของโครงการที่ตั้งไว้ที่ 8.62% และจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 24 ปี เป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลหรือไม่