ดอกเบี้ย เงินเฟ้อติดลบ กำไรแบงก์ การแข่งขัน | บัณฑิต นิจถาวร

ดอกเบี้ย เงินเฟ้อติดลบ กำไรแบงก์ การแข่งขัน | บัณฑิต นิจถาวร

สี่เรื่องนี้เป็นข่าวค่อนข้างมากอาทิตย์ที่แล้ว เพราะมีการยกประเด็นโดยเอาทั้งสี่เรื่องมาผูกเป็นสตอรี่มุ่งไปที่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการทํานโยบาย ทําให้เกิดความสับสนว่าสี่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร

ผมเองก็ถูกถามมากเรื่องนี้จากหลายสื่อ วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นที่ผมได้ให้ไปทั้งสี่ประเด็นให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ โดยแยกเป็นเรื่องๆ เริ่มที่อัตราดอกเบี้ย

เป้าหมายของนโยบายการเงินคือดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับตํ่าที่เป็นเป้าและสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว คําถามที่ถูกยกเป็นประเด็นคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ขณะนี้เหมาะสมหรือไม่ ควรลดหรือไม่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ

ปี 2565 แบงก์ชาติเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 0.25 เดือนกันยายนเพื่อดูแลเงินเฟ้อหลังอัตราเงินเฟ้อในประเทศได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 7 ซึ่งผมคิดว่าทำช้าไป จากนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ถูกปรับขึ้นอีก 7ครั้ง ถึงร้อยละ 2.5 เดือนกันยายนปีที่แล้วและก็ไม่ได้ปรับขึ้นอีก

ช่วง12 เดือนที่แบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อในประเทศลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ในเดือนกันยายนที่แล้ว ซึ่งถือว่าประสพความสำเร็จในการลดเงินเฟ้อ

แต่จากนั้น อัตราเงินเฟ้อก็ลดลงต่อและติดลบในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะการใช้จ่ายอ่อนแอมาก จนราคาสินค้าลดลงและเงินเฟ้อติดลบ

ดังนั้น ณ จุดนี้จึงไม่มีเหตุผลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสวนทางกับเงินเฟ้อติดลบอย่างที่บางคนเป็นห่วง

คําถามคือเมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 เหมาะสมหรือไม่ที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งพิจารณาได้สองทาง ทางแรกคือดูว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ตํ่าพอหรือไหมที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเทียบกับประเทศที่ขยายตัวได้ดี

ในเรื่องนี้ถ้าดูประเทศในภูมิภาคที่ขยายตัวได้ดีขณะนี้เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ อัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศเหล่านี้จะอยู่ระหว่างร้อยละ 4-7 สูงกว่าไทยทั้งสิ้น

แสดงว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราตํ่า และอัตราดอกเบี้ยตํ่าอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วย

ซึ่งก็คือสิ่งที่เศรษฐกิจเราขาด ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐ ความเชื่อมั่น การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้ เศรษฐกิจก็จะขยายตัวดีขึ้น

ดอกเบี้ย เงินเฟ้อติดลบ กำไรแบงก์ การแข่งขัน | บัณฑิต นิจถาวร

ทางที่สองคือเทียบกับตัวเองคือดูว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 เหมาะสมหรือไม่กับภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ โดยดูที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริง คือ อัตราดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ

อัตราดอกเบี้ยนโยบายเราตอนนี้ร้อยละ 2.5 อัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ -0.4 อัตราดอกเบี้ยแท้จริงจึงประมาณร้อยละ 2.9 ซึ่งก็ปริ่มๆ

คืออัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจควรเป็นบวกและควรตํ่ากว่าร้อยละ 3ในความเห็นผม ซึ่งถ้าอัตราเงินเฟ้อจากนี้ไปติดลบมากขึ้น สะท้อนเศรษฐกิจอ่อนแอมากขึ้น

อัตราดอกเบี้ยแท้จริงคงเกินร้อยละ 3 แสดงว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 อาจไม่เหมาะสม คือตึงเกินไปสำหรับเศรษฐกิจขณะนี้ที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว มีเหตุมีผลให้ผู้ทํานโยบายควรพิจารณาเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย

เดือนที่แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้นปีนี้ที่ร้อยละ 3.4-3.8 สูงกว่าปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 และอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะเป็นบวกและอยู่ในเป้า ทําให้ กนง.มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.5 เหมาะสมกับเศรษฐกิจ

ดังนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มกราคมปีนี้ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาสสี่ปีที่แล้ว และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมกราคมจะสำคัญมากที่จะชี้ว่าเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ กนง. ได้ประเมินไว้หรือไม่ เงินเฟ้อไปตามเป้าหรือไม่ และควรพิจารณาความเหมาะสมของดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

สิ่งเหล่านี้คงมีตามมา ซึ่งก็คือบริบทของการดําเนินนโยบายการเงินที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเศรษฐกิจ และการตัดสินใจคงเกิดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ในการประชุมครั้งแรกปีนี้ของ กนง. นี่คือเรื่องดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ

ส่วนเรื่องกําไรแบงก์และการแข่งขัน มีการตั้งประเด็นว่ากําไรของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปีที่แล้วที่ประมาณว่าอยู่ที่สองแสนล้านบาทนั้นสูงเกินไปหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ นำไปสู่การตั้งคำถามว่าการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์มีเพียงพอหรือไม่

ดอกเบี้ย เงินเฟ้อติดลบ กำไรแบงก์ การแข่งขัน | บัณฑิต นิจถาวร

ในเรื่องนี้ผมมองว่ากําไรแบงก์เป็นเรื่องปรกติ ธนาคารคือธุรกิจและธุรกิจต้องมีกําไร บางปีกําไรมาก บางปีกําลังน้อย เช่นปีโควิด ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ปีที่แล้วเศรษฐกิจฟื้นตัวและอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เป็นสองปัจจัยที่ดีต่อการทํากําไรของแบงค์ แต่ก็ไม่มาก

เพราะสินเชื่อในระบบธนาคารปีที่แล้วชะลอตัว คืออัตราการขยายตัวลดลงจากร้อยละ 5 ตอนต้นปีเหลือประมาณร้อยละ 2 ปลายปี ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ปีที่แล้วก็ไม่มาก ประมาณ 1-1.5 เปอร์เซ็นต์ตํ่ากว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น

ชี้ว่ากําไรแบงค์ที่เพิ่มขึ้นปีที่แล้วอาจไม่ได้มาจากสินเชื่อ แต่อาจมาจากส่วนอื่น เช่น ค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่างๆ ที่ธนาคารคิดกับลูกค้าซึ่งโตเร็วมาก และปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์

ผมคิดว่าการดูแลให้ธนาคารพาณิชย์กําหนดค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม น่าจะเป็นประเด็นที่ผู้ทํานโยบายควรให้ความสำคัญมากขึ้น

ต่อคําถามว่ากําไรสูงเกินไปหรือไม่ ต้องดูว่าธุรกิจธนาคารในบ้านเรามีโอกาสและมีความสามารถในการทํากำไรมากน้อยแค่ไหนเทียบกับในประเทศอื่นหรือเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น

ซึ่งข้อมูลชี้ว่าอัตราผลตอบแทนต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทย เช่น RoE หรือ RoA ไม่เด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น RoE ของระบบธนาคารเราประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าประเทศอื่นเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ตัวเลข RoA ก็เช่นกัน

แสดงว่าธนาคารพาณิชย์เรายังไม่สามารถหาประโยชน์จากทุนที่ลงไปดีเท่าประเทศอื่น ซึ่งเหตุผลหลักคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพในการทําธุรกิจ เช่นการใช้เทคโนโลยี และการแข่งขัน

ดอกเบี้ย เงินเฟ้อติดลบ กำไรแบงก์ การแข่งขัน | บัณฑิต นิจถาวร

การแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในบ้านเราผมคิดว่ามีพอควรโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าชั้นดี ที่มีธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเข้ามาร่วมแข่ง กดดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องหันมาแข่งในกลุ่มลูกค้าชั้นรองชั้นล่างและเอสเอ็มอีที่ความเสี่ยงในการปล่อยกู้มีมากขึ้น ทําให้ต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อสูงขึ้น

แบงก์จึงระวังไม่แย่งกันปล่อยสินเชื่อ จนเกิดความรู้สึกว่าธนาคารไม่แข่งขัน ผมว่าที่ควรทําคือภาครัฐวางระบบข้อมูลลูกค้ารายย่อยหรือเอสเอ็มอีให้ดี ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ธนาคารสามารถบริหารความเสี่ยงของการปล่อยกู้รายย่อยและเอสเอ็มอีได้ดีขึ้น ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้าที่มีความเสี่ยงจะมีมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจและต่อกําไรของธนาคารพาณิชย์

ที่เขียนมาค่อนข้างสรุปเพราะพื้นที่บทความมีน้อย แฟนคอลัมน์ที่สนใจรายละเอียดทั้งเรื่องดอกเบี้ยและเรื่องแบงค์สามารถรับทราบได้จาก clipในYouTube ของรายการที่ผมให้สัมภาษณ์ในประเด็นเหล่านี้ไว้เช่น FM 96.5 รายการ CEO Vision

ดอกเบี้ย เงินเฟ้อติดลบ กำไรแบงก์ การแข่งขัน | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]