กำไรหุ้นแบงก์ท็อปฟอร์ม ปมนโยบายคลัง – เงินไม่ตรงใจ

กำไรหุ้นแบงก์ท็อปฟอร์ม   ปมนโยบายคลัง – เงินไม่ตรงใจ

เกิดเป็นวาทกรรมจากในโลกโซเซียลจนลามนำมาขยี้เป็นข่าวใหญ่สำหรับกำไร “กลุ่มแบงก์” ที่ถูกตั้งข้อสังเกตแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 และ ปี 2566 จะสร้างตัวเลขสถิติเชิงกำไรอีกครั้งตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2566

    เมื่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "เศรษฐา ทวีสิน" โพสต์ข้อความผ่านโซเซียลมีเดีย ใช้ชื่อ @Srettha Thavisin   ระบุถึง แบงก์ชาติที่ใช้นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย กระทบเศรษฐกิจ และมีผลต่อประชาชน สวนทางกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง และคาดหวังแบงก์ชาติจะดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ 

    "จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ"

ขณะที่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ออกมาโพสต์ข้อความช่วงเวลาไล่เลี่ยกันว่า  “ไม่ได้เพิ่งมาพูด จะพูดจนกว่าจะเปลี่ยน   10 ส.ค.66 ขึ้นดอกเบี้ยชะลอเงินเฟ้อจาก cost push ไม่ได้ ,30 ก.ย.66 ถามธนาคารพาณิชย์ “ไม่สงสารลูกหนี้หรือ ?” ,5 ธ.ค.66 ลูกหนี้รับดอกเบี้ยที่สูงแบบนี้ไม่ไหวแล้ว ,5 ม.ค. 67 ลดดอกเบี้ยให้เร็ว และมากคือ ทางรอด และ 7 ม.ค.67 กำไรสูงบนความวินาศของลูกค้าช่างน่ารังเกียจ และขอตำหนิผู้กำกับธุรกิจ”

 

กำไรหุ้นแบงก์ท็อปฟอร์ม   ปมนโยบายคลัง – เงินไม่ตรงใจ

          ซีกรัฐบาลเปิดคำถามแรงถึงนโยบายดอกเบี้ยของ ธปท. ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 10 ปีของไทย เฉลี่ย 2 - 2.5% และปี 2566 คาดการณ์เฉลี่ยไม่เกิน 2.5%  จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 1.3% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.8%   และไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.7% ย้อนไปเฉลี่ย 10 ปี ไทยมีการเติบโต GDP อยู่ที่ 1.8 - 1.9 %  

ขณะที่หุ้นแบงก์มีความสามารถทำกำไรเฉลี่ย ในรอบ 10 ปี ระดับ 2 แสนล้านบาท แม้จะเผชิญวิกฤติโควิด ปี 2563 - 2564  หรือวิกฤติเงินเฟ้อจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ปี 2565  แต่การบริหารธุรกิจการเงินของนายแบงก์ไทยสามารถฝ่ากระแสปัจจัยลบมาได้ตลอด  

       จากการเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมเส้นเลือดเศรษฐกิจของไทยมีการลงทุน และกระจายการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ   เพราะเผชิญการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีไม่น้อยทั้งกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของธปท. การแข่งขันกันเอง และต่างชาติ การปรับตัวด้านเทคโนโลยีในช่วงถูกดิสรัปชันจากโควิดเป็นต้น

       ปี 2560 มีกำไรสุทธิรวม 195,136 ล้านบาท  และทำกำไรทุบสถิติปี 2562 ที่ 270,906 ล้านบาทมาจากค่าธรรมเนียมที่ได้รับความนิยมหลังแบงก์ไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการผ่านโมบายแบงก์กิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง  พอเกิดสถานการณ์โควิดแบงก์กำไรวูบอยู่ที่ 138,000 ล้านบาทในปี 2563  และกลับมาทำกำไรแตะ 2 แสนล้านบาทปี 2665 จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

       จนปี 2566 คาดการณ์ว่ากำไรแบงก์จะยังท็อปฟอร์มแตะ 2 แสนล้านบาท แรงหนุนทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลดีต่อส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก หรือ NIM หากแต่ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามามีผล เพราะบางแบงก์ยังมีปัญหาหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL  ตลอดทั้งปี 2566 เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นต้น

       รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจการเงินต่างประเทศ เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงศรี (BAY)  และการรวมกิจการเพื่อลดต้นทุนแต่เพิ่มขนาด ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาติ จนเป็น   TTB  ดังนั้นเฉพาะดอกเบี้ยขาขึ้นจึงเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจแบงก์มีโอกาสเพิ่มกำไร

       คาดการณ์ปี 2566 ทิศทางกำไรเป็นขาขึ้นและเติบโตระดับ 10% “ธนเดช รังษีธนานนท์” Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย คาดหวังแนวโน้มของผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ในปี 2567 ที่ทิศทางกำไรเป็นขาขึ้น คาดเติบโตได้ต่อเนื่อง 12% จากปีนี้คาดที่ 2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 18.5% จากปี 2565

       “กลุ่มแบงก์ยังคงได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจะขึ้นไปสู่จุดพีคแล้ว แต่ในปีหน้ากลุ่มแบงก์จะได้รับประโยขน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาในปี 66 อย่างเต็มที่ ทำให้ยังหนุนต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จากปี 2566 ที่ 3.4% ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มที่มีความสามารถจ่ายเงินได้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

       อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวถูกโยงไปยังฝ่ายกำกับอย่าง ธปท. ที่เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพการเงินของไทยมีเครื่องในมือ “อัตราดอกเบี้ย” ที่อิงกับเงินเฟ้อ  ซึ่งเคยมีข้อถกเถียงกันมาแล้วว่ากรอบปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

       การกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายปี 2566 ตลอดปีดังกล่าวเงินเฟ้อปรับตัวลดลงชัดเจน และเริ่มต่ำกว่ากรอบ ธปท.

       เดือนต.ค.2566 เงินเฟ้อไทยลดลง 0.31%  ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง 

      เงินเฟ้อไทยเดือนธ.ค.2566  ปรับตัวลดลงติดลบ 0.83% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จนทำให้คาดว่าเงินเฟ้อปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1% หากจะมองเพียงเงินเฟ้อเพียงมิติเดียวที่กดดันดอกเบี้ย ต้องไม่ลืมด้วยว่าต้นทุนพลังงานที่ตรึงราคาทั้งค่าไฟ - ค่าน้ำ  - ราคาน้ำมัน และก๊าซ จากภาครัฐยังไม่ได้สะท้อนตัวเลขในตลาดโลก  ทำให้บทบาทการเงิน และการคลังยังปักธงความกังวลใจกันคนละหน้าที่ไปด้วย  

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์