เปิดกำไร 10 แบงก์ทะลุ 2 แสนล้าน ปี65 สำรองวูบ 8.3% หนุนกำไรเพิ่ม

เปิดกำไร 10 แบงก์ทะลุ 2 แสนล้าน ปี65 สำรองวูบ 8.3% หนุนกำไรเพิ่ม

เปิดกำไร10ธนาคารพาณิชย์ ปี65 กำไรรวมทะลุ2แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น10% จากปีที่ผ่านมา กรุงไทยกำไรโตเด่น56% ด้านสำรองลดวูบ ตัวหนุนกำไรเพิ่ม สำรอง10แบงก์ลดเหลือ 1.98แสนล้าน ลดลง 8.3% จากปีก่อนสำรองหนี้ทะลุ2แสนล้าน สอดคล้องหนี้เสียทั้งระบบ ปรับลดลงต่อเนื่อง

ปิดฉากการประกาศผลประกอบการ ปี2565 สำหรับกลุ่ม “ธนาคารพาณิชย์” ไปเรียบร้อยเมื่อท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรวมผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวดีขึ้น หากเทียบกับปี2564 ที่ผ่านมา จากภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มฟื้นตัว เหล่านี้ส่งผลดีต่อธุรกิจแบงก์ให้ปรับตัวดีขึ้นด้วย 

ประกอบกับ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แบงก์เริ่มได้รับอานิสงค์ จากการปรับ “ดอกเบี้ย” ขึ้นสู่ภาวะปกติ หากเทียบกับช่วง 2ปีที่ผ่านมา ที่ต้องปรับลดดอกเบี้ยลงจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ เริ่มเห็นรายได้ดอกเบี้ยแบงก์ กลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะ 10ธนาคาร อาทิ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารทีทีบีธนชาต(ttb) ธนาคารทิสโก้(TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) ธนาคารแลนด์แลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT)
      เปิดกำไร 10 แบงก์ทะลุ 2 แสนล้าน ปี65 สำรองวูบ 8.3% หนุนกำไรเพิ่ม

โดยกำไรสุทธิของ10ธนาคารพาณิชย์ โดยรวมปี2565 อยู่ที่ 200,177 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 10% หากเทียบกับช่วงปี2564 ที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 182,242 ล้านบาท 
    

เปิดกำไร 10 แบงก์ทะลุ 2 แสนล้าน ปี65 สำรองวูบ 8.3% หนุนกำไรเพิ่ม

 

แบงก์ที่เติบโตโดดเด่น ฟากแบงก์ใหญ่ ในปี2565

ธนาคารกรุงไทย โดยกำไรสุทธิเติบโตขึ้นถึง 56% มาอยู่ที่ 33,698 ล้านบาท หากเทียบกับปีก่อนที่กำไรสุทธิอยู่เพียง 21,588ล้านบาท 

ธนาคารกรุงเทพ ที่เติบโตถึง 11% มาอยู่ที่ 29,306ล้านบาท จาก 26,507 ล้านบาท

ฟากแบงก์ขนาดกลาง ทีเอ็มบีธนชาต ถือว่าเติบโตโดเด่นมาก โดยกำไรสุทธิเติบโตที่ 35% มาอยู่ที่ 14,195ล้านบาท เช่นเดียวกัน

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่เติบโตถึง 20% มาอยู่ที่ 7,602ล้านบาท จาก6,318ล้านบาท 

ส่วนแบงก์ขนาดเล็ก ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ถือว่ากลับมาเติบโตได้เกินครึ่ง โดยผลประกอบการเติบโตถึง 58% มาอยู่ที่กว่า 1,093ล้านบาท จาก690ล้านบาท หากเทียบกับปี2564 ที่ผ่านมา 

กำไรของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ มาจากรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของสินเชื่อ ที่กลับมาฟื้นตัวได้ดีในรอบ 3ปีที่ผ่านมา

บวกกับ ภาระการตั้งสำรองหนี้เสีย ปรับลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับปี2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมา แบงก์มีการตั้งสำรองไว้มากแล้วในช่วง 1-2ปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

 

2แบงก์กำไรลด   

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารโดยรวมจะมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่มีบางธนาคาร กำไรสุทธิลดลง สวนทางกับแบงก์ทั้งระบบ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำไรลดลง 9% มาอยู่ที่ 30,713 ล้านบาท  หลักๆมาจาก การรวมรายการพิเศษ จากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุน จากการขายหุ้นของเงินติดล้อ ในปี 2564 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น  

ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย กำไรปรับลดลง 6% มาอยู่ที่ 35,770 ล้านบาท  โดยสำรองที่ลดลง หลักๆมาจากการตั้งสำรองที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งปี2565 และในช่วงไตรมาส 4 ที่เพิ่มขึ้น 

 

สำรองแบงก์วูบ8.33%หนุนกำไรแบงก์เพิ่ม
    
โดยภาพรวม การตั้งสำรองหนี้เสียของ 10แบงก์โดยรวม อยู่ที่ 198,140 ล้านบาท ลดลง 8.33% หากเทียบกับปี 2564 ที่สำรองหนี้โดยรวมอยู่ที่ 216,136 ล้านบาท 

แบงก์ที่มีภาระการตั้งสำรอง ที่ลดลงมากในปีที่ผ่านมา อาทิ ธนาคารทิสโก้ สำรองลดลงถึง 65% มาอยู่ทเพียง 722ล้านบาท จากระดับ 2พันล้านบาท ในปีก่อนหน้า รวมถึง ซีไอเอ็มบีไทย ที่สำรองลดลง 39%

ขณะที่ฟากแบงก์ใหญ่ สำรองปรับลดลงมากเช่นเดียวกัน  เช่น ธนาคารกรุงไทย สำรองลดลง 25.17% และไทยพาณิชย์ สำรองลดลงถึง 19.50% 

แม้สำรองหนี้เสียทั้งปี 2565 จะปรับลดลง แต่บางแบงก์ “สำรองหนี้เสีย” ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เช่น กสิกรไทย ที่สำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นถึง 1หมื่นล้านบาท หรือ 28.73%  ทำให้สำรองโดยรวมปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 51,919ล้านบาท  เช่นเดียวกัน ไตรมาส 4 ที่สำรองหนี้เสีย เพิ่มขึ้นกว่า 138% มาอยู่ที่ 22,784ล้านบาท หากเทียบกับไตรมาส 4ปี 2564 ที่สำรองหนี้เสียอยู่เพียง 9,580 ล้านบาท
หนี้เสียแบงก์ลด17%

ด้านภาพรวม “หนี้เสีย” ของธนาคารพาณิชย์ โดยรวมปรับลดลงต่อเนื่อง ปรับลดลง มาอยู่ที่ 511,720 ล้านบาท ลดลง 17% หากเทียบกับ ปีที่ผ่านมา ที่มูลค่าหนี้เสียโดยรวม อยู่ที่ 617,023ล้านบาท ซึ่งเป็นผล ทำให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถลดการตั้งสำรองหนี้เสียลงมาได้

“รายได้ดอกเบี้ย” เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ ปี2565 กำไรโดยรวมของหลายแบงก์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการเติบโตของสินเชื่อ และการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สู่ภาวะปกติ ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยโดยรวมของ 10แบงก์ใหญ่ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 616,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 12% หากเทียบกับ ปีที่ผ่านมา ที่รายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 552,744 ล้านบาท 

โดยแบงก์ที่รายได้ดอกเบี้ย เพิ่มโตได้ดีในปี 2565 ที่ผ่านมา เช่น ธนาคารกรุงเทพ รายได้ดอกเบี้ยเติบโตถึง 24%  ถัดมา เกียรตินาคินภัทร ที่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกือบ 22% เช่นเดียวกัน ไทยพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 13.34% 

ในด้าน “สินเชื่อ” ที่เติบโตได้ดี เป็นเลขสองหลัก หลักๆจะเห็นได้ในแบงก์ขนาดกลาง ขนาดเล็ก อาทิ เกียรตินาคิน เพิ่มขึ้น 21.35%  แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 19.80% ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 11% เป็นต้น