ไทยดึงซาอุฯ ลงทุนเหมือง เสียบแทน ‘สัมปทานโปแตช’ รายเดิม

ไทยดึงซาอุฯ ลงทุนเหมือง เสียบแทน ‘สัมปทานโปแตช’ รายเดิม

รัฐบาลเร่งเดินหน้าดึงทุนใหม่ ลงทุนเหมืองโปแตชในไทย ชี้รับสัมปทานไปแล้ว 3 บริษัท แต่ยังไม่มีการลงทุน “พิมพ์ภัทรา” เชิญเอกชนซาอุฯ มาดูเหมืองในภาคอีสาน ก.พ.นี้ ศึกษาปริมาณแร่สำรอง

Key Points

  • ประเทศไทยมีปริมาณแร่โปแตชสำรองเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีการให้ประทานบัตรไปแล้วแต่ยังไม่มีการลงทุน
  • รัฐบาลมีนโยบายที่จะดึงบริษัทรายใหม่ที่มีศักยภาพให้เข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่โปแตชแทนผู้รับประทานบัตรรายเดิม
  • กระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญบริษัทซาอุฯ มาดูลู่ทางการลงทุนเหมืองแร่โปแตชในเดือน ก.พ.2567
  • บริษัทซาอุฯ มีความสนใจที่จะลงทุนทั้งการผลิตแร่โปแตชและผลพลอยได้จากการผลิตแร่โปแตช

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการมีความล่าช้า

ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชไปแล้ว 3 ราย แต่ยังเปิดพื้นที่ทำเหมืองไม่ได้ และบางรายถือประทานบัตรมาแล้วถึง 8 ปี ส่วนอีก 2 บริษัท ติดปัญหาเรื่องเงินทุนในการดำเนินกิจการ

สำหรับโจทย์สำคัญที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ คือ การหาผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นผู้พัฒนาแหล่งแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รวมทั้งรัฐบาลมองว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่โปแตชสำรองเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแคนาดา เบลารุสและเยอรมนี แต่ที่ผ่านมามีการผลักดันการลงทุนเหมืองแร่โปแตชมาตลอดในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดเหมืองได้ 

นอกจากนี้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลใ้หราคาปุ๋ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งทำให้บริษัทปุ๋ยในไทยชะลอการนำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศ เพราะสินค้าปุ๋ยในไทยเป็นสินค้าควบคุมราคา ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการลงทุนเหมืองแร่โปแตช และถ้าผู้รับประทานบัตรปัจจุบันลงทุนไม่ได้อาจต้องหาผู้ลงทุนรายใหม่

นอกจากนี้มีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชจำนวน 3 ราย ซึ่งได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่

  1. บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้รับประทานบัตรโครงการทำเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
  2. บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ผู้รับประทานบัตรในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี
  3. บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดาเบลารุสและเยอรมนี ตามลำดับ

สำหรับพื้นที่ประเทศไทยสามารถพบแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ได้ใน 2 แหล่ง คือ

แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย สกลนคร หนองคาย อุดรธานีและนครพนม

แอ่งโคราช ประกอบด้วย ขอนแก่น กาฬสินธุ์มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมาและชัยภูมิ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในเดือน ก.พ.2567 ไทยจะเชิญคณะนักลงทุนซาอุดิอาระเบียที่มีความสนใจลงทุนในไทย เพื่อเดินทางมาไทยและเยี่ยมชมเหมืองแร่โปแตชในไทย

สำหรับความร่วมมือในการลงทุนแร่ระหว่าง 2 ประเทศ มีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังเดินทางร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในการประชุมฟอรั่มแร่ธาตุแห่งอนาคต (Future Minerals Forum หรือ FMF) เมื่อวันที่ 9-11 ม.ค. 2567 ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย 

ทั้งนี้ การเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งนี้ได้นัดหารือนอกรอบกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณี ซาอุฯ เพื่อพูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โพแทสในประเทศไทย อาทิ ปริมาณสำรองแร่ ผลพลอยได้จากการทำเหมือง รวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินการ ซึ่งซาอุฯ แสดงความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีแม่แร่ยูเรียในประเทศ ขณะที่ไทยมีแร่โพแทส จึงเห็นความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อสร้างความมั่นคงทางแร่และความยั่งยืนในการส่งออกมายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

”ซาอุฯ มีข้อสอบถามค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับการทำเหมืองโปแตสของไทย อาทิ ปริมาณสำรองแร่ รวมถึงเรื่องผลพลอยได้จากการทำเหมือง ซึ่งไทยพร้อมเปิดรับหากซาอุฯ สนใจร่วมลงทุน ทั้งนี้มีประเทศอื่นใกล้เคียงที่มีแร่โปแตสเช่นกัน แต่ไทยมีข้อได้เปรียบในแง่ของความยั่งยืนในการส่งออกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้“

สำหรับการหารือกับซาอุฯ พร้อมที่จะรับเรื่องโปแตชที่ได้รับในการหารือไปเชิญชวนภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียที่สนใจ เช่น MA’ADEN Manara Minerals เข้ามาร่วมลงทุน

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยยูเรีย (N) และฟอสฟอรัส (P) ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งแร่โพแทช (K) ที่สำคัญแหล่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย หากร่วมมือกันจะต่อภาพอุตสาหกรรมปุ๋ยได้ครบถ้วน ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารและยาเวชภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงในด้านนี้ร่วมกันได้เช่นกัน