กฤษฎีกาปัดไฟเขียวรัฐบาล ‘กู้’ แจกดิจิทัลวอลเล็ต

“กฤษฎีกา” ปัดไฟเขียวรัฐบาลกู้เงินแจกดิจิทัล – แจงหากทำตามความเห็นปลอดภัยแน่นอน – ยืนยันจะตรา พรบ./พรก.ก็ได้

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นการกู้เงินของรัฐบาล 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทว่า เนื้อความเห็นดังกล่าว รัฐบาลอาจต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเลตอีกครั้ง และความเห็นดังกล่าว เป็นเรื่องลับ ดังนั้น จะต้องให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด แต่ยืนยันว่า ไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับความเห็นเป็นข้อกฎหมายว่า เนื้อความในมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินและการคลัง ที่จะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง หรือแก้ไขวิกฤตของประเทศ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า นโยบายฯ จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบได้เพียงเท่านี้ 

ส่วนจะออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า ตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด ก็ถือเป็นกฎหมายเช่นกัน 

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันด้วยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะใด ๆ ในความเห็นดังกล่าว แต่เป็นการอธิบายมาตรา 53 และให้รัฐบาลไปรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้ โดยไม่ได้ระบุบ่งชี้ว่า ควรจะทำนโยบายดังกล่าวหรือไม่ เพราะกฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย และต้องอาศัยตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่หากดำเนินการตามแล้วจะไม่ผิดกฎหมายนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า ใช้อ้างอิงได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎา ได้ยืนยันตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตาม ก็การันตีได้ว่า จะปลอดภัยแน่นอน 

ส่วนหากในอนาคตโครงการดังกล่าวนี้มีปัญหา จะสามารถอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีเป็นเกราะป้องกันได้หรือไม่นั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า หากดำเนินการไปตามเงื่อนไขทุกอย่าง ก็จะไม่มีปัญหา 

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังปฏิเสธที่จะอธิบายถึงการตีความวิกฤต เนื่องจาก GPD โตไม่ทัน เนื่องจาก กฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอ้างภาวะวิกฤตแต่กลับตราการกู้เงินเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ ที่มีขั้นตอนมากกว่าพระราชกำหนดนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา เนื่องจาก พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ให้สามารถกู้เงินได้โดยตราเป็นกฎหมาย ซึ่งกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลจะตราเป็นพระราชบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา 3 วาระรวดก็ได้ หรือพระราชกำหนด เหมือนที่ผ่านมาก็ได้ 

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังยืนยันว่า กฤษฎีกาไม่ได้ห่วงกังวลใด ๆ เพราะการดำเนินการของรัฐบาล จะต้องอยู่บนข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้อง จึงเชื่อมั่นว่า รัฐบาล จะยึดข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้