สัญญาณอุตสาหกรรมปี 67 ‘อีวี-อาหาร’ ขยายตัวแรง

สัญญาณอุตสาหกรรมปี 67 ‘อีวี-อาหาร’ ขยายตัวแรง

สศอ.คาดภาวะอุตสาหกรรมปี 67 ฟื้นตัว รับการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริด ชี้ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2567 จะขยายตัว 2.0-3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว โดยประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวสูงขึ้น ในกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2567 ที่คาดว่าจะทยอยออกมาต่อเนื่องและมีความชัดเจนมากขึ้น

วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า ในปี 2567 ต้องติดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยาวนานและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้าง อีกทั้งต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ ความผันผวนของค่าเงิน หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง

เหล่านี้เป็นปัจจัยห่วงกังวลสำหรับภาคการผลิต รวมถึงแรงกดดันกำลังซื้อผู้บริโภค นอกจากนี้ปรากฎการณ์เอลนีโญยังเป็นประเด็นให้ต้องติดตามในระยะต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมที่จะขยายตัวได้ดีในปี 2567 ได้แก่ 

1.ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยเฉพาะรถยนต์แบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ซึ่งจะเริ่มทยอยเดินสายการผลิตตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกปี 2567 สำหรับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV 3.0) ที่จะต้องผลิตชดเชยในประเทศเท่ากับที่นำเข้ามาทั้งคันในอัตรา 1:1

“แนวโน้มการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมอีวียังคงเติบโตได้ดี หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 (EV 3.5) ซึ่งมีความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ผลิตที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกอีวีในภูมิภาค”

นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ยังเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ในประเทศ

2.อาหารและเครื่องดื่ม ในภาพรวมกลุ่มอาจไม่ขยายัวมากนัก แต่เมื่อมองเฉพาะกลุ่ม อาทิ อาหารเฉพาะทาง อาหารทางศาสนา และอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงกลุ่มอาหารแปรรูปคุณภาพสูงที่มองว่าจะเติบโตได้ดี

ขณะที่อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะยังหดตัวต่อเนื่องในปี 2567 ได้แก่ 

1.ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ถ้ายังไม่มีการปรับตัว คาดว่าจะยังทรงๆ และมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีความต้องการลดลง 

2.เหล็กและเหล็กกล้า ได้รับผลกระทบหนักขึ้นจากสินค้านำเข้าราคาถูก และกลุ่มสิ่งทอ ที่เห็นสัญญาณหดตัวชัดเจน ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ สิ่งทอที่ยังขยายตัวได้จะเป็นกลุ่มสิ่งทอพิเศษ เช่น สิ่งทอสำหรับการกีฬาและการทหาร

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดัชนี MPI ของไทยที่ลดลงต่อเนื่องหลายปี ทำให้สศอ. เตรียมจัดทำแผนเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากว่า 20 ปี ซึ่งสะท้อนความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมไทยที่ต่ำลง

โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบดัชนี MPI ของไทยกับประเทศสำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น พบว่า ดัชนี MPI ของไทยเคลื่อนไหวอยู่ในแดนติดลบและขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลาง โดยมีประเทศอื่นที่มีดัชนี MPI ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐ และญี่ปุ่นในบางช่วง ขณะที่เวียดนามและจีนยังขยายตัวได้ดี ส่วนมาเลเซียทรงตัวอยู่ที่ค่าเฉลี่ย

“ข้อมูลเบื้องต้นสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของประเทศคู่แข่งที่มีอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน ซึ่งอัตราการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไทยอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งมีแนวโน้มลดลง”

โดยปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มลดลงคือ โครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีส่วนประกอบของอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งเป็นการผลิตที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก

“หากไทยไม่เร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สินค้าที่ผลิตในประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีเทคโนโลยีสูงขึ้น และตอบสนองความต้องการของโลก ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่แข่งขันด้านราคา ที่สินค้าจีนและเวียดนามครองตลาดส่วนใหญ่แล้ว“

สำหรับดัชนี MPI เดือน พ.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 90.83 หดตัว 4.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 5.01% โดยประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 หดตัว 4.8% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 หดตัว 3.0%

ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพ.ย.อยู่ที่ 57.87% รวม 11 เดือนแรกอยู่ที่เฉลี่ย 59.38% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว เนื่องจากนโยบายการเงินของต่างประเทศยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์การกลั่นปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหาร สะท้อนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.มีมูลค่าการส่งออกรวมขยายตัว 3.37% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองขยายตัว 2.94% โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นในช่วงเวลาหลังจากนี้

นอกจากนี้ ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน ธ.ค.2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น” จากปัจจัยภายในประเทศที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในทุกองค์ประกอบ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากความเชื่อมั่นที่ไม่ใช่ภาคการผลิตลดลง กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และภาคการก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่งผลต่อการประมูลโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังกังวลต่อการขึ้นค่าแรง

ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงหดตัว ส่วนสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังกังวลเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพ.ย.2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.91% จากการผลิตสินค้าในกลุ่มที่ใช้สำหรับการเดินทางเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเตา จากกิจกรรมการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.91% จากแหวน สร้อย และเพชร เป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ประเทศคู่ค้าหลักกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นทั้งการท่องที่ยวหรือการจัดงานแสดงอัญมณี และเร่งคำสั่งซื้อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลปีใหม่

สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.89% จากสายไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ รวมถึงการส่งมอบตามคำสั่งซื้อของการไฟฟ้า

เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.18% เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัว รวมถึงราคาเยื่อกระดาษ กระดาษแข็งและกระดาษคราฟท์ปรับตัวลดลงทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.31% จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และเส้นใยประดิษฐ์อื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ โดยเป็นตามคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ ของตกแต่งบ้าน เชือก และสายเคเบิล