‘จรีพร จารุกรสกุล’ CEO of the Year 2023 มิชชั่นทูเดอะซันเดินหน้าธุรกิจยั่งยืน

‘จรีพร จารุกรสกุล’ CEO of the Year 2023 มิชชั่นทูเดอะซันเดินหน้าธุรกิจยั่งยืน

“จรีพร จารุกรสกุล” นักธุรกิจแห่งปี ที่เดินหน้าภารกิจสู่ดวงอาทิตย์ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานสู่การเป็นเทคโนโลยีคอมปานี ผลักดันไทยให้เป็น The World’s Best Investment Destination สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลก

เศรษฐกิจโลกที่บอบช้ำจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2565 ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความตึงเครียด โดยเฉพาะสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐที่อาจนำไปสู่แนวโน้มการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดคลื่นการย้ายฐานผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทย

ในขณะที่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนจับมามอง รวมถึงการวางเป้าหมายเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero

เป็นประจำที่ “กองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ” จะคัดเลือก “CEO of the Year” หรือ “สุดยอดซีอีโอ” โดยการพิจารณาให้คะแนน 4 ส่วน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ESG สัดส่วนคะแนน 30% , การทรานส์ฟอร์มที่เป็นหัวใจสำคัญของการปรับตัวทางธุรกิจ สัดส่วนคะแนน 25% , การพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดธุรกิจในอนาคต สัดส่วนคะแนน 25% และผลดำเนินงาน สัดส่วนคะแนน 20% ‘จรีพร จารุกรสกุล’ CEO of the Year 2023 มิชชั่นทูเดอะซันเดินหน้าธุรกิจยั่งยืน

ในปี 2566 “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group ได้รับการคัดเลือกเป็น CEO of the Year 2023

‘จรีพร จารุกรสกุล’ CEO of the Year 2023 มิชชั่นทูเดอะซันเดินหน้าธุรกิจยั่งยืน

“จรีพร” ขึ้นมารับหน้าที่ประธานกรรมการ เมื่อเดือน ก.พ.2562 โดยขับเคลื่อนการปรับโฉมนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งของ WHA ให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ พร้อมเดินหน้าการทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่จะนำไปสู่การเป็น “เทคคอมพานี” ภายในปี 2567

ภารกิจ “Mission to the Sun” ถูกประกาศเป็นพันธกิจสำคัญของ WHA ในการขับเคลื่อนธุรกิจตั้งแต่ปี 2566-2570 เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความต้องการของลูกค้า รวมทั้งสร้างการพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กร

ทั้งนี้ WHA เตรียมการสู่การเป็นเทคคอมปานีภายในปี 2567 ด้วยงบลงทุน 68,500 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) แบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โลจิสติกส์ 17,000 ล้านบาท, ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ 29,000 ล้านบาท, WHAUP 18,500 ล้านบาท และดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล 4,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศพันธกิจ WHA: WE SHAPE THE FUTURE ที่มุ่งมั่นในการเป็นผู้สร้างความเจริญ สร้างอาชีพ และรายได้ให้ผู้คนและสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สู่เป้าหมายสูงสุด คือ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของไทย

ด้วยศักยภาพจากระบบอีโคซิสเต็มที่ครบวงจรและแข็งแกร่งของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ที่สนับสนุนให้ต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้ไทยเป็น The World’s Best Investment Destination สำหรับนักลงทุนทั่วโลก

“การขับเคลื่อนธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับทั้ง 3 มิติไปพร้อมกัน ทั้งมิติสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนคือ ธุรกิจโมเดลใหม่ที่จะทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้” จรีพร กล่าว

WHA ตั้งเป้าขับเคลื่อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 การพัฒนาธุรกิจที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด การทำโครงการ Circular Economy เพื่อให้สอดคล้องนโยบาย BCG ของประเทศ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมควบคุมสิ่งแวดล้อมในแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco Industrial Estate)

ปัจจุบันมี 3 โครงการ ที่คืบหน้าเป็นรูปธรรม ได้แก่ 

Green Logistics เป็นการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงาน และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ประเทศระยะยาว

Digital Health Tech การพัฒนาแอปพลิเคชัน WHAbit เป็นเครื่องมือดูแลด้านสุขภาพผ่านระบบดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้สมัครใช้บริการ สามารถจัดการสุขภาพแบบองค์รวมได้ง่ายขึ้น

Circular Economy การซื้อขายแลกเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้จากผู้ประกอบการหนึ่งไปยังผู้ประกอบการหนึ่ง เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ได้มีประสิทธิภาพขึ้น 

รวมทั้ง WHA Emission Trading จะเป็นตัวกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นโซลูชันที่ส่งเสริมการลดปริมาณคาร์บอนในอุตสาหกรรม โดยมองเห็นโอกาสที่จะทำให้เป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 8,434 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,012 ล้านบาท โดยหากพิจารณาผลประกอบการปกติมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 8,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และกำไรปกติ 1,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% (YoY) ซึ่งสอดรับกระแสการย้ายหรือขยายฐานการลงทุนและฐานการผลิตที่ดึงเข้ามาลงทุนระยะยาว ส่งผลให้ภาคการลงทุนในประเทศและต่างประเทศกลับมาคึกคักอีก

"มั่นใจว่ารายได้และกำไรปี 2566 จะเติบโต 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 15,800 ล้านบาท ทำ All Time High อีกครั้ง เป็นสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง สะท้อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจ 4 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่เหนือความคาดหมายทำให้เพิ่มเป้าหมายการดำเนินงานปีนี้สูงขึ้น ซึ่งปรับเป้ายอดขายที่ดินรวมในไทยและเวียดนามจาก 1,750 ไร่ ที่เคยประกาศเมื่อต้นปี เป็น 2,750 ไร่”

นอกจากนี้ แผนขับเคลื่อนธุรกิจที่พัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ได้รับคัดเลือกเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เป็นหุ้นยั่งยืน หรือ THSI (Thailand Sustainability Investment) ติดต่อกัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 สะท้อนการดำเนินธุรกิจที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และยึดหลักธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance : ESG)

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปลี่ยนชื่อหุ้นยั่งยืน THSI เป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings โดย WHA ได้รับประเมินปี 2566 ที่ระดับ “AAA” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และเป็นการติดรายชื่อหุ้นยั่งยืน 4 ปี ติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งในมิติการจัดการความเสี่ยงและโอกาส ศักยภาพในการแข่งขัน และการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

จรีพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัทยังมีดีลที่อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง ทั้งจากจีนที่ทะลักเข้ามา ญี่ปุ่นที่เริ่มกลับมา รวมถึงสหรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะตามเข้ามา อีกทั้งยังมีกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และคอนซูเมอร์ที่ยังดีต่อเนื่อง

“การเดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนเชิงรุกโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำคณะ สร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มบริษัทระดับโลก ซึ่งเอกชนยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะรับการลงทุนใหม่แน่นอน”

ทั้งนี้ความท้าทายหลักของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ให้ไหลเข้ามาในไทยมากที่สุด กระตุ้นการลงทุนในตลาดทุนไทย การดูแลเศรษฐกิจรากหญ้า โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงกว่ 90% รวมถึงการช่วยเหลือรายย่อยและเอสเอ็มอีให้เติบโตได้