ภาคปศุสัตว์ วัดใจครม.เคาะนำเข้า กากถั่วเหลืองห่วงธุรกิจสูญล้านล้านบาท

ภาคปศุสัตว์ วัดใจครม.เคาะนำเข้า  กากถั่วเหลืองห่วงธุรกิจสูญล้านล้านบาท

17 สมาคมปศุสัตว์-สัตว์น้ำ เร่งครม.นัดสุดท้ายปี 66 (26 ธ.ค.)เคาะ“นำเข้ากากถั่วเหลือง” เหตุ เรือ4 ลำรอท่า หากล่าช้าเสี่ยงค่าปรับ วันละ 1 ล้าน รวมภาษีทำค่าใช้จ่ายเพิ่ม 40 ล้านบาทต่อเดือน กระทบธุรกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 สมาพันธ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผ่านทาง นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นับเป็นหนังสือฉบับที่ 6 ที่ยื่นถึงรัฐให้เร่งออกประกาศนำเข้า “กากถั่วเหลือง” ทันทีและขอเข้าพบอธิบายเหตุผลและความจำเป็นที่ยังไม่ออกประกาศดังกล่าว

ภาคปศุสัตว์ วัดใจครม.เคาะนำเข้า  กากถั่วเหลืองห่วงธุรกิจสูญล้านล้านบาท

            ทั้งนี้ ผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยมีเพียงปีละ 2-3 หมื่นตัน น้อยกว่าความต้องการใช้ที่ปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งสมาพันธ์ฯ รับซื้อหมดทั้ง 100% แล้ว รวมถึงการรับซื้อจากโรงงานผลิตน้ำมันพืชด้วย จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่รัฐบาลจะชะลอการต่ออายุประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองให้ล่าช้ากว่าทุกปี 

ความล่า้ช้าดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมาก ต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จึงอยากรัฐบาลนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของปี พร้อมขอให้มีมติต่ออายุทันทีเพื่อจำกัดความเสียหาย เพราะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังตามมาอีก

 

ภาคปศุสัตว์ วัดใจครม.เคาะนำเข้า  กากถั่วเหลืองห่วงธุรกิจสูญล้านล้านบาท

ธุรกิจสูญโอกาสทั้งระบบล้านล้านบาท

“การเร่งออกประกาศ เพื่อจำกัดความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการผลิตอาหารสัตว์ เพราะหากต้องหยุดชะงักเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในการผลิต จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศ และกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจทั้งระบบรวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ หากล่าช้าจนเกิดความเสียหาย สมาพันธ์ฯ จะส่งใบเรียกเก็บค่าเสียหายไปยังรัฐบาล“

นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ในวันที่ 3 ม.ค. 2567 จะมีเรือขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำแรก และตลอดเดือนม.ค. 2567 จะมีเรือนำเข้ากากถั่วเหลืองจำนวน 4 ลำ รวมปริมาณ 2.1 แสนตัน ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองออกไม่ทันจะส่งผลให้เรือที่ขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองที่จะเข้ามาไทยจะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ และมีค่าใช้จ่าย (Demurrage Charge) วันละ 2.5 แสนบาทต่อลำเรือ และเดือน มค. มีเรือเข้ามาพร้อมกัน 4 ลำ จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1 ล้านบาทต่อวัน นับไปทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะออกประกาศและ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า กรณีประกาศลดหย่อนอัตราภาษีของกระทรวงการคลังออกล่าช้า

ต้องสำรองจ่ายภาษี300 ล้านบาท

 “กรณี มค.2567 มีรายการเข้ามาจำนวน 2.1 แสนตัน มูลค่านำเข้าประมาณ 4,200 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจะสูงถึง 336 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 1.68 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลาขอคืนภาษี 6 เดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่าในเดือน มค.รวม 10.08 ล้านบาท หรือโดยรวมจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน”

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า การนำเข้ากากถั่วเหลือเป็นเรื่องปกติที่ต้องต่ออายุทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดปีนี้กลับเกิดความล่าช้าขึ้นมาก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกระทบขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไก่ไทยในตลาดโลก มูลค่าการส่งออกราว 1.5 แสนล้านบาทที่ตั้งเป้าไว้น่าจะเป็นไปได้ยาก

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับความเดือดร้อนจากหมูเถื่อนมาหลายปี รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาโดยตลอด ขณะที่ตอนนี้ยังต้องกังวลกับสถานการณ์การนำเข้ากากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ที่เกิดความล่าช้าจากการออกประกาศนำเข้า และจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ซ้ำเติมความเดือดร้อนของคนเลี้ยงหมูอีกด้าน จึงอยากขอให้รัฐบาลนำวาระการต่ออายุประกาศ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ทันที เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมหาศาล

เกษตรกรห่วงทำต้นทุนผลิตพุ่ง 

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่าวันที่25 ธ.ค. 2566 ได้นำคณะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำหลายสมาคม เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองโดยด่วน โดยกุ้งไทยต้องใช้กากถั่วเหลืองในการผลิตอาหารกุ้ง ความล่าช้าจากภาครัฐในการต่ออายุนำเข้าเช่นนี้ ย่อมกระทบถึงต้นทุนการผลิตกุ้งไทยที่สูงอยู่แล้ว ให้สูงขึ้นไปอีก

นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าปลายน้ำมีราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลให้กุ้งไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลก กระทบการสร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทอย่างเลี่ยงไม่ได้

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เเจ้งว่า มาตรการการนำเข้า “กากถั่วเหลือง” ภายใต้ องค์การการค้าโลก (WTO) แบ่งเป็นในโควตา

230,559 ตัน (เปิดจริงไม่จำกัดปริมาณ) ภาษี 20 % (เก็บจริง 2%) ผู้มีสิทธิขอรับจัดสรรเป็นสมาชิกของ สมาคมที่กำหนดเช่น ชุมนุมสหกรณ์โคมนมแห่งประเทศไทย ,สมาคมปศุสัตว์ไทย, สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ,สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  เป็นต้น ส่วนการนำเข้านอกโควตา ไม่จำกัดปริมาณแต่มีอัตราภาษี 133% (เก็บจริง 119%)