ไทยตื่นรับมือ ‘ทะเลแดงเดือด’หารือสายเดินเรือ-เตรียมแหล่งน้ำมันสำรอง

ไทยตื่นรับมือ ‘ทะเลแดงเดือด’หารือสายเดินเรือ-เตรียมแหล่งน้ำมันสำรอง

ผู้ส่งออกในภูมิภาครับมือวิกฤติทะเลแดง  หลังซัพพลายเชนทั่วโลกปั่นป่วน “พาณิชย์” คาดไม่ยืดเยื้อไม่กระทบส่งออกปี 66 แต่ค่าระวางเรือเพิ่ม 1 เท่าตัว สัปดาห์หน้าเชิญสายเดินเรือหารือ ‘พลังงาน’ รับมือทะเลแดง ชี้  หากยืดยื้อกระทบราคาน้ำมันสูงขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร

การโจมตีในทะเลแดงส่งผลให้ผู้ส่งออกในภูมิภาคพยายามหาเส้นทางบก เรือและอากาศ เพื่อขนส่งสินค้านานาชนิดไปให้ร้านค้าปลีกหลังซัพพลายเชนทั่วโลกที่กำลังปั่นป่วนจากการขนส่งที่ติดชะงัก

สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปจะใช้เส้นทางผ่านทะเลแดง โดยยุโรปถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยที่ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2566 การส่งออกไปสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) มีมูลค่า 18,247 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 4.4% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 7.7% เมื่อเทียบการส่งออกรวมของไทย

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนและทูตพาณิชย์ไทยในตะวันออกกลางและยุโรป เพื่อติดตามผลกระทบการส่งออกสินค้าไทย กรณีกองทัพฮูติของเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าต่างชาติในทะเลแดงที่มุ่งสู่ท่าเรืออิสราเอล และเดินเรือผ่านช่องแคบ Bab al-Mandab ซึ่งเชื่อมทะเลแดงและทะเลเอเดน 

ทั้งนี้ทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ เยอรมนี อิตาลีและภาคเอกชน เห็นตรงกันว่าเหตุการณ์ไม่ยืดเยื้อ เพราะประเทศใหญ่ที่ได้รับผลกระทบพยายามแก้ปัญหา และถ้าจบเร็วจะไม่กระทบการส่งออกไทยปี 2566

ส่วนระยะสั้นพบค่าระวางเรือปรับขึ้นและเปลี่ยนเส้นทาง โดยยกเลิกการเดินเรือผ่านคลองสุเอซและทะเลแดง และปรับเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา อีกทั้งสายเดินเรือยกเลิกการรับบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปท่าเรือ Sokhna และท่าเรือ Jeddah รวมถึงท่าเรือในทะเลแดงชั่วคราวเพื่อป้องกันความเสี่ยงภัยต่อเรือและลูกเรือ ซึ่งให้การเดินเรือเส้นทางเอเชีย-ยุโรป เพิ่มขึ้น10-15 วัน

ไทยตื่นรับมือ ‘ทะเลแดงเดือด’หารือสายเดินเรือ-เตรียมแหล่งน้ำมันสำรอง

นอกจากนี้ คาดว่าสายเรือจะเพิ่มจำนวนเรือมาบริการเพิ่มเพื่อรักษาความถี่การเดินเรือไม่ให้น้อยลง ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ค่าระวางการขนส่งสินค้าเส้นทางตะวันออกไกล-ตะวันออกกลาง-เมดิเตอร์เรเนียน-ยุโรป มีแนวโน้มสูงขึ้น

หวังว่าเหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อและไม่กระทบการส่งออกไทยมากนัก มีแค่ผลกระทบจากระยะเวลาขนส่งที่เพิ่มขึ้น และค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น แต่สัปดาห์หน้ากระทรวงพาณิชย์จะเชิญสายเดินเรือมาหารือ หากเหตุการณ์ยืดเยื้อและต้องขึ้นค่าระวางเรือก็ขอให้ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินจริง ซึ่งจะใช้มาตรการบริหารจัดการก่อนและยังไม่ใช่กฎหมายเข้ามาดูแล”

ขณะเดียวกันธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) รับจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก เพราะหากการขนส่งสินค้าล่าช้าจะทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น และอาจขาดกระแสเงินสดได้

ค่าระวางเรือพุ่ง1เท่าใน1สัปดาห์

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ช่วง 1 สัปดาห์ ที่มีการโจมตีเรือขนส่งสินค้า สายเดินเรือขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ 1 เท่าตัว จากเดิม 1,000-1,500 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต มาอยู่ที่ 3,000-4,000 ดอลลาร์ต่อตู้  ซึ่งเป็นภาระของผู้ส่งออกเพราะขายสินค้าได้คิดค่าใช้จ่ายไว้แล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ส่งออกต้องรับภาระส่วนนี้ไว้ แม้ไม่มากเมื่อเทียบช่วงโควิดที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 7-10 เท่า แต่เป็นการเพิ่มขึ้นมากใน 1 สัปดาห์ และหวังว่าสายเดินเรือจะไม่ขึ้นอีก

ผู้ส่งออกต้องเร่งหารือสายเดินเรือเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บเพิ่ม กรณีสินค้าอยู่ระหว่างการขนส่งก่อนการโจมตี เพื่อหาจุดสมดุล รวมถึงระยะเวลาที่ตู้คอนเทนเนอร์สามารถอยู่ที่ท่าเรือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (Free time) ในการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ จากระยะเวลาขนส่งที่เพิ่มขึ้น และการหมุนเวียนของตู้คอนเทนเนอร์ที่ต้องเพียงพอ"  

นอกจากนี้ ถือว่าโชคดีที่ปัญหานี้เกิดโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งขณะนี้ผู้ส่งออกส่งสินค้าไปกว่า 90%เกือบหมดแล้ว เพื่อให้ทันช่วงคริสมาสต์และปีใหม่แต่ว่าเหตุการณ์นี้ถ้าจบเร็วจะไม่กระทบการส่งออกปี66 แต่ถ้ายืดเยื้อเกินสัปดาห์หน้าอาจกระทบการส่งออกเดือนม.ค.67

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12-19 ธ.ค.2566 มีการเดินเรือสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เรือสินค้าเทกองแห้ง เรือสินค้าเทกองเหลว และเรือประเภทอื่นผ่านพื้นที่ดังกล่าว 106-124 ลำ โดยวันที่ 19 ธ.ค.2566 มีเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านพื้นที่ 9 ลำ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อและสายเรือปรับเส้นทางไปยังแหลม Good Hope จะกระทบผู้ส่งออกไทยและ Global Supply Chain

คาดสายเดินเรือไม่เสี่ยงไปทะเลแดง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงล่าสุดที่อาจกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจปี 2566 ซึ่งแม้ยังไม่มีข้อกังวลรุนแรงแต่ต้องจับตาใกล้ชิด ซึ่งผู้บริหารหอการค้าไทยที่ทำธุรกิจส่งออกนำเข้าและการเดินเรือ รวมถึงธุรกิจในประเทศแสดงความห่วงใยว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อบานปลายแค่ไหน แต่ไม่ถึงกับกังวลการส่งออกที่ลดลงหรือกระทบรุนแรง 

ทั้งนี้ บริษัทเดินเรือจะไม่ไปเสี่ยงในทะเลแดงอาจต้องหลบเลี่ยงเส้นทางการเดินเรือ ซึ่งต้องเพิ่มเวลาการเดินทาง โดยอาจต้องเก็บเงินจากลูกค้าและทำประกันเพิ่มขึ้น ต้นทุนการใช้น้ำมันจะสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนการประกันความเสียหายของสินค้า ซึ่งอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแพงขึ้นทำให้ค่าระวางเรือแพงขึ้นแน่นอน

ส่วนระยะสั้นยังไม่ถึงขั้นสินค้าขาดแคลน แต่อาจทำให้ต้นทุนการขนส่งแพงขึ้น 10-20% ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น 5-10% ในกรณีที่มีการโจมตีในเวลาที่ยาวนานกว่านี้ ส่วนตอนนี้ยังไม่กระทบต่อเงินเฟ้อและราคาน้ำมันยังนิ่งที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

"พลังงาน”จับตาวิกฤติทะเลแดง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​ (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากปัญหาโจรสลัดฮูตีโจมตีเรือพาณิชย์ขนส่งผ่านทะเลแดง ในขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีผลกระทบต่อไทยเพราะยังจัดหาน้ำมันจากแหล่งอื่นได้ แต่หากยืดเยื้ออาจกระทบราคาน้ำมันตลาดโลกและค่าขนส่ง ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเล็กน้อย

“กระทรวงพลังงาน มีคณะอนุวิกฤติพลังพลังงาน โดยมีนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และได้มีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้ยังสามารถบริหารจัดการได้” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทะเลแดงถือเป็นช่องทางในการขนส่งสำคัญ หากยืดยื้อราคาลำเรือแพงเพราะต้องไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาแทน จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นการขนส่งน้ำมันก็จะช้าลงตามไปด้วย ส่วนเรื่องของการขาดแคลนตงไม่ขาดเพราะทุกประเทศมีการสำรองน้ำมันเพียงพออยู่แล้ว

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกจะมี 2 ปัจจัยหลักคือผู้ผลิต และต้นทุนภาคขนส่ง ซึ่งนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า สหรัฐเตรียมเจรจาและคาดว่าอาทิตย์หน้าจะทราบผลว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งสหรัฐได้ตั้งขุมกำลังหนึ่งร่วมกับพันธมิตรเพื่อขับไล่โจรสลัดฮูตีออกจากพื้นที่ หวังว่าจะจบเพราะจะกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น

ยืนยันไทยไม่ขาดแคลนพลังงาน

“จะไม่ขาดแคลนพลังงาน ส่วนต้นทุนแล้วแต่ประเทศที่นำเข้า ซึ่งไทยน่าจะเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร จึงต้องดูต้นทุนผู้นำเข้าว่าจะเลือกอ้อมไปช่องทางไหน เพราะหากทุกคนไปช่องแคบเดียวกันหมด ที่ต้องใช้เวลานานขึ้นจะทำให้ต้นทุนลำเรือสูงขึ้น”

ทั้งนี้ ต้นทุนจะขึ้นเท่าไหร่ต้องนำราคาน้ำมันดิบมาบวกกับการกลั่นเพื่อเป็นเบนซินหรือดีเซล แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันขึ้นมา 3-4 ดอลลาร์ ดีเซลตลาดโลกขึ้นมาเกือบ 10 ดอลลาร์ เกือบกลับมาที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้น ช่วงปีใหม่ที่ผู้ค้าน้ำมันจะตรึงราคาน้ำมัน 10 วัน ก็จะแบกภาระตรงนี้ด้วย เพราะช่วงนี้จะไม่ลงง่าย ๆ ยกเว้นจะหารือกันรู้เรื่อง

ปัญหานี้จะไม่กระทบเหมือนกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันโดยตรง ดังนั้นราคาจะไม่กระทบมากนักเพราะเป็นปัญหาต้นทุน ซึ่งจะกระทบระยะสั้นเพราะจะมีคู่แข่งมาทำให้ราคาถูกลง เหมือนกับสินค้าจำเป็นในช่วงแรกที่ราคาสูง และเพื่อให้แข่งขันได้ก็จะมีผู้ค้าเข้ามาทำให้ราคาลงทุน” แหล่งข่าว กล่าว

แนะรับมือทะเลแดงอัมพาท90วัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน กลุ่มติดอาวุธฮูตีที่อิหร่านหนุนหลังในเยเมน เพิ่มการโจมตีเรือในทะเลแดงตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.เพื่อแสดงการสนับสนุนฮามาสสู้รบกับอิสราเอลในกาซา สร้างความปั่นป่วนให้เส้นทางการค้าสำคัญของโลกที่เชื่อมยุโรปและอเมริกาเหนือกับเอเชียผ่านทางคลองสุเอซ ส่งผลต้นทุนขนส่งทางเรือเพิ่มสูง บางกรณีสูงถึง 3 เท่า เมื่อบริษัทต่างๆ หันไปหาเส้นทางอื่น เช่น อ้อมแหลมกู๊ดโฮป

เอสแอนด์พีโกลบอลระบุในรายงาน ถ้าความปั่นป่วนยืดเยื้อ ภาคส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ป้อนให้บริษัทค้าปลีกรายใหญ่สุดของโลก อาทิ วอลมาร์ทและอิเกียจะได้รับผลกระทบหนักสุด

นายอลัน แบร์ ซีอีโอบริษัทโอแอล ยูเอสเอ จัดทีมให้คำปรึกษาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์แก่ลูกค้า แนะนำให้เตรียมรับมือทะเลแดงใช้การไม่ได้อย่างน้อย 90 วัน ช่วงนี้ที่ไม่มีเสียงโวยวายเพราะกำลังเข้าสู่คริสต์มาส แต่หลังวันที่ 2 ม.ค. ทุกคนจะรู้สึกได้ถึงผลกระทบ

นายยัน ไคลเนอ-ลาสธูส์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ Hellmann Worldwide Logistics บริษัทขนส่งทางอากาศเยอรมนี กล่าวว่า บริษัทที่ไหวตัวเร็วจำนวนหนึ่งพยายามเปลี่ยนไปใช้การขนส่งผสมผสานแล้ว โดยขนส่ง 2-3 รูปแบบ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีใช้วิธีนี้มากขึ้น เช่น ขาแรกขนส่งทางเรือมาที่ท่าเรือในดูไบ จากนั้นขนถ่ายขึ้นเครื่องบิน

“ตัวเลือกนี้เปิดให้ลูกค้าเลี่ยงพื้นที่อันตรายในทะเลแดง และการเดินทางยาวไกลอ้อมปลายสุดทวีปแอฟริกา” นายไคลเนอ-ลาสธูส์กล่าว

นายพอล เบรเชียร์ รองประธาน Drayage and Intermodal ในเครือไอทีเอส โลจิสติกส์ กล่าวว่า หลายบริษัทอาจขนส่งสินค้าสำคัญเร่งด่วนทางอากาศ แต่มีโจทย์ค่าใช้จ่าย สอดคล้องนายไบรอัน เบิร์ก ประธานคณะเจ้าหน้าที่พาณิชย์บริษัทเซโก โลจิสติกส์ กล่าวว่า ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางอากาศสูงกว่าการขนส่งทางทะเล 5-15 เท่า โดยอัตราค่าขนส่งสินค้าทางตู้คอนเทนเนอร์ต่ำกว่ามาตรฐานในอดีต

ถ้าระยะเวลาขนส่งเพิ่มขึ้น 2 เท่า บริษัทขนส่งจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ามูลค่าสูง อาทิ เสื้อผ้าดีไซเนอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไฮเอนด์

สายเดินเรือทยอยขึ้นค่าระวาง

นายโครีย์ แรนสเลม ซีอีโอ Dryad Global บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางทะเลของอังกฤษ กล่าวว่า แต่ละปีเรือแล่นผ่านทะเลแดง 35,000 ลำ ขนส่งสินค้าระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย คิดเป็นราว 10% ของจีดีพีโลก

บริษัทค้าปลีกสหรัฐ เช่น วอลมาร์ท, ทาร์เก็ต, เมซี และไนกี้ ใช้เส้นทางนี้ขนส่งสินค้าตั้งแต่สำลีแผ่น และแปรงสีฟันไฟฟ้าจากอินเดีย ไปจนถึงรองเท้าจากจีนและศรีลังกา

“หากภัยคุกคามยืดเยื้อ ราคาพลังงานและสินค้าส่งเข้ายุโรปจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะต้นทุนเพิ่มจากการเปลี่ยนเส้นทางไปรอบแอฟริกา ซึ่งเสียเวลาขนถ่ายเพิ่มขึ้น 30 วันขึ้นอยู่กับท่าเรือที่ไปจอด” นายแรนสเลมกล่าว

สำหรับกองเรือนานาชาติกองใหม่ที่สหรัฐตั้งขึ้นมาลาดตระเวนรอบทะเลแดง บริษัทขนส่งหลายแห่งยังไม่แน่ใจ แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเผยว่า การใช้คลองสุเอซได้อีกครั้งเพื่อสร้างหลักประกันว่าได้ซัพพลายเสื้อผ้าจากเอเชียเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อบริษัทยุโรป

พร้อมกันนั้นเจ้าของเรือสินค้าขนาดใหญ่หลายรายเริ่มเพิ่มค่าธรรมเนียมแล้ว เช่น ค่าธรรมเนียมฉุกเฉินสำหรับการขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทะเลแดง

เมื่อวันพุธ (20 ธ.ค.) ซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม บริษัทขนส่งฝรั่งเศส ประกาศค่าธรรมเนียม 1,575 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต, 2,700 ดอลลาร์ สำหรับตู้ขนาด 40 ฟุต และ 3,000 ดอลลาร์สำหรับตู้แช่และอุปกรณ์พิเศษสำหรับการเดินทางเข้าออกท่าเรือในทะเลแดง