"พิชัย" แนะ "กสทช." แสดงศักยภาพดูแลการให้บริการทรู - ดีแทค หลังควบรวม

"พิชัย" แนะ "กสทช." แสดงศักยภาพดูแลการให้บริการทรู - ดีแทค หลังควบรวม

ที่ปรึกษานายกฯ จี้ กสทช.แสดงศักยภาพ ติดตามควบรวมทรู -ดีแทค ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน หลังฟังเสียงประชาชนยังไม่พอใจค่าบริการ - คุณภาพ ด้านประธาน กสทช.รับอยากเห็นการดูแลคนใช้บริการมากขึ้น เห็นด้วยปรับการทำงาน "กขค." ช่วยดูแลการควบรวมให้เป็นไปตามเงื่อนไขมากขึ้น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (True) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (Dtac) ว่าเป็นห่วงถึงการที่ประชาชนบ่นถึงค่าบริการและคุณภาพ ที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรแสดงศักยภาพมากกว่านี้ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสร้างความพึงพอใจให้ประชาชน

โดยเฉพาะทางเลือกที่มีจำกัดของประชาชน กสทช. ยิ่งต้องมีมาตรการเข้มข้นขึ้น เพราะประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ภาระต้นทุนหนักที่ค่าพลังงาน แต่รายได้เข้ากระเป๋าน้อยลง ประชาชนเดือดร้อนเมื่อรู้สึกค่าโทรศัพท์ไม่ถูกลงอย่างตั้งใจไว้ ทำให้ผิดหวัง แถมยังมีภัย call center เกิดขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว และรัฐบาลกำลังเร่งทำวิธีทางเพื่อช่วยเรื่องรายได้ของประชาชนโดยด่วน

ด้านศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่าในฐานะประธานกสทช.พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งในโซเชียลมีเดีย และภาคประชาชน แม้ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่พอใจต่อผลการปฏิบัติของสำนักงาน กสทช. อยากเห็นการดูแลประชาชนผู้ใช้งานและสาธารณะมากกว่านี้ได้อีกหรือไม่

\"พิชัย\" แนะ \"กสทช.\" แสดงศักยภาพดูแลการให้บริการทรู - ดีแทค หลังควบรวม

“สำนักงานกสทช.ต้องเร่งทำความเข้าใจและสร้างความชัดเจนใน 2 เรื่องคือ การส่งเสริมการขายของบริษัท และคุณภาพการให้บริการอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ เพราะมีผู้ใช้บริการหลายสิบล้านคนที่เขาต้องดูแล แล้วคนที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มไหน อยู่ในพื้นที่ไหน เป็นจำนวนเท่าไหร่ สำนักงานกสทช.ต้องเร่งเข้าไปหาต้นตอของปัญหา และแก้ไขโดยด่วน ต้องบอกสังคมด้วยปัญหาอยู่ตรงไหน และ แก้ไขอย่างไรบ้าง”

หลังจากนี้ กสทช.ต้องเดินหน้าเร่งรัดให้ผู้ประกอบการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคและปรับปรุงบริการลูกค้าให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ตลาดและสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งไม่เฉพาะกรณีของ TRUE-DTAC เท่านั้น มีบางความเห็นมีกล่าวถึงการให้บริการและราคาของ AIS ด้วย ก็ต้องไปตรวจสอบดูว่าว่าทำไมและเหตุใดประชาชน ถึงมีประเด็นดังกล่าว

“เราต้องตั้งใจฟัง ผมเป็นหมอ ผมต้องฟังคนไข้ ก่อนวินิจฉัยอาการ”

รวมถึงปัญหาที่ไม่มีผู้ให้บริการประชาชนอย่างเพียงพอ ก็ได้เร่งให้สำนักงานส่งเสริมการประกอบการ MVNOs รวมถึงได้แจ้งไปยังรัฐบาล ถึงความต้องการยกระดับผู้ประกอบการด้วย ซึ่งกสทช.เร่งสนับสนุนไม่ได้นั่งรอเฉยๆ แต่เชิญชวนผู้ประกอบการในต่างประเทศมาลงทุน ซึ่งใช้โอกาสในระหว่างการเดินทางไปประชุมเวทีต่างประเทศทุกครั้งพยายามหารือกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่สนใจ

“ในส่วนที่ คุณศิริกัญญา ให้สัมภาษณ์รายการคุณสรยุทธ สุทัศนจินดา เรื่องการบรรจุวาระประชุมนั้น ขอชี้แจงว่า คุณศริกัญญา ก็เป็น ส.ส.มาถึงสองสมัย ก็ควรเข้าใจว่าทุกวาระบรรจุก็ต้องขออนุมัติประธานสภาและเข้าคิวเหมือนกัน เรื่องไหนสำคัญที่มีกรอบระยะเวลาก็เร่งบรรจุเป็นพิเศษอยู่แล้ว ประธานไม่ได้เลือกบรรจุตามความต้องการ แต่มีการตรวจสอบความถูกต้องว่า การเสนอนั้นถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นประเด็นการออกระเบียบประกาศ ไม่ถูกต้องอาจถูกฟ้องที่ศาลปกครองอีก หากคุณศิริกัญญา อ้างถึง กรรมการ กสทช.  4 คน ที่ว่าประธานรวบอำนาจ ไม่บรรจุวาระของพวกเขา ทั้งสี่คนเลยไม่ยอมเข้าประชุม ก็แสดงว่าคุณศิริกัญญา รู้เห็นว่า กสทช. ทั้งสี่มีวาระอะไรที่ต้องการให้บรรจุเป็นพิเศษ และเอาสิ่งที่ต้องการมาต่อรองเพื่อเข้าประชุมอย่างนั้นหรือไม่"

ที่สำคัญคุณศิริกัญญา ในฐานะ ส.ส. ควรจะเข้าใจถึงหลักองค์ประชุมดี เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็เพิ่งจะล่มไป 2 ครั้ง เพราะ สส.พรรคคุณศิริกัญญา ไม่ได้เข้าร่วมประชุม หากไม่ครบองค์ประชุมก็ประชุมไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะโหวตอย่างไร เพราะองค์ประชุมที่ กสทช นั้นคือ 4 คน”

อย่างไรก็ตาม ประธานกสทช. เห็นด้วยกรณีที่น.ส.ศิริกัญญา พูดถึงการปรับปรุงอำนาจ กขค. หรือ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

เพราะเป็นหน่วยงานที่สามารถ บอกได้โดยตรงว่า ปัญหา ของการแข่งขันที่จำกัดนั้นอยู่ตรงไหน เพราะความไม่พอใจคงมิใช่แค่กรณี TRUE-DTAC  ควบรวมกันประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกด้านลบต่อทุนใหญ่ ที่รัฐบาลต้องช่วยกัน เพราะไม่ใช่แค่กิจการโทรคมนาคม แต่กระจายไปถึงกิจการพลังงาน กิจการค้าปลีก และ อื่นๆ ซึ่ง ในฐานะ กสทช ก็ต้องพยายาม สร้าง SMEs ให้เติบโตขึ้นด้วย แต่ก็ยากเพราะธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้การลงทุนที่สูงมาก