รัฐอัดงบฯ 4.1 หมื่นล้านอุดหนุน 'EV' ต่อเนื่อง 4 ปี 67 - 70 'เอกชน' ลงทุนต่อเนื่อง

รัฐอัดงบฯ 4.1 หมื่นล้านอุดหนุน 'EV' ต่อเนื่อง 4 ปี 67 - 70 'เอกชน' ลงทุนต่อเนื่อง

ครม.ไฟเขียววงเงินสนับสนุน EV รวม 4.1 หมื่นล้าน แบ่งเป็น EV 3.5 มาตรการใหม่ 3.4 หมื่นล้าน ส่วน EV 3.0 ที่ขยายเวลาเพิ่มอีก 7.1 พันล้านบาท “บีโอไอ” มั่นใจหนุนดีมานต์ EV ไทยต่อเนื่อง สานฝันไทย EV ภูมิภาค คาดรถ EV เข้าโครงการกว่า 8.3 แสนคัน ส.อ.ท.ชี้เอื้อผู้ประกอบการลงทุนต่อเนื่อง

มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV 3) ที่เริ่มปี 2565 ส่งผลกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเต็มที่ทำให้ยอดจดทะเบียนรถใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.2566 อยู่ที่ 67,056 คัน เพิ่มขึ้น 7.9 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 

รวมทั้งผู้ประกอบลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมสรรพสามิต รวม 19 ราย โดยมีรถรับเงินอุดหนุนแล้ว 28,841 คัน และมีรถนำเข้าแต่ยังไม่ยื่นรับเงินอุดหนุน 61,436 คัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงส่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ธ.ค.2566 เห็นชอบมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) วงเงิน 41,186 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เสนอ รวม 2 มาตรการ คือ

1.วงเงินเพื่อสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ EV3.5 ระหว่างปี 2567-2570 รวมระยะเวลา 4 ปี วงเงิน 34,060 ล้านบาท 

2.มาตรการอุดหนุน EV 3.0 เพิ่มเติมหลังจากที่ได้มีการขยายระยะเวลามาตรการนี้ให้ครอบคลุมระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.2566 วงเงิน 7,125 ล้านบาท โดยกรมสรรพสามิตได้เสนอขอใช้งบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนเพื่อจ่ายให้กับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ปี 2567

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะเลขานุการบอร์ดอีวีแห่งชาติ เปิดเผยว่ามาตรการ EV 3.5 ที่ ครม.เห็นชอบครั้งนี้ เป็นมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (2567-2570) โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2567 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

ทั้งนี้บีโอไอร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ประชุมชี้แจงรายละเอียดของมาตรการ EV3.5 รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบอร์ดบีโอไอเห็นชอบเมื่อเดือน พ.ย.2566 โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกว่า 30 ราย

สำหรับมาตรการ EV3.5 เป็นมาตรการที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค 

รวมทั้งการออกมาตรการ EV3.5 จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV และการดึงบริษัทรถยนต์รายใหม่เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศเพิ่มเติมด้วย 

มั่นใจรักษาท็อปเท็นผู้ผลิตรถโลก

นอกจากนี้ บีโอไอในฐานะเลขานุการของบอร์ด EV ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเดินหน้าผลักดันเต็มที่ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 ตลอดจนรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก และสนับสนุนเป้าหมายประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050

สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะมีผลใช้บังคับในช่วงปี 2567-2570 โดยครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะ ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้า รถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

  1. รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kVh จะได้รับเงินอุดหนุนปีที่ 1 คันละ 100,000 บาท , ปีที่ 2 คันละ 75,000 บาท และปีที่ 3-4 คันละ 50,000 บาท สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนปีที่ 1 คันละ 50,000 บาท ปีที่ 2 คันละ 35,000 บาท และปีที่ 3-4 คันละ 25,000 บาท
  2. รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 100,000บาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
  3. รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 KWh จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ 

รัฐอัดงบฯ 4.1 หมื่นล้านอุดหนุน \'EV\' ต่อเนื่อง 4 ปี 67 - 70 \'เอกชน\' ลงทุนต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภายใต้มาตรการ EV 3.5 จะลดอากรขาเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า สำเร็จรูป (CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

เงื่อนนำเข้า1คัน ผลิตชดเชย2คัน

ทั้งนี้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศให้ผู้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่ร่วมมาตรการ EV3 แล้ว หากประสงค์เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ให้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแต่ละมาตรการ EV3.5

โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 34,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี

ทั้งนี้กรมสรรพสามิตคาดว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวน 830,000 คัน โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน
  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน
  • รถกระบะไฟฟ้า 30,000 คัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ม.ค.2567 เพื่อให้ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2566 และยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือน ม.ค.2567

ทั้งนี้ บีโอไอจะร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน จัดประชุมผู้ประกอบการรถยนต์และจักรยานยนต์เพื่อชี้แจงมาตรการ EV 3.5 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในวันที่ 22 ธ.ค.2566

 

เอื้อรายใหม่รายเก่าเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่

โดยในส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ช่วงระหว่างปี2567-2570 ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มาตรการนี้ออกมาก่อนสิ้นปี 2566 ที่ EV 3.0 จะสิ้นสุดลง ทำให้มาตรการส่งเสริมมีความต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้บริโภค และกลุ่มผู้ประกอบการที่สามมารถวางแผนธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งเชื่อว่าเมื่อมีความแน่นอนของมาตรการจะดึงความสนใจการลงทุนของผู้ผลิตรายใหม่ รวมถึงมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าจากผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วม EV 3.0 อยู่แล้ว ที่ใช้สิทธิกับรถรุ่นอื่นที่ยังไม่ได้ทำตลาดในขณะนี้ได้ โดยนำเข้ามาภายใต้สิทธิ EV 3.5

ซึ่งประเด็นนี้ ก่อนหน้านี้ นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจี แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกัน จะช่วยให้บริษัทพิจารณานำรถรุ่นอื่นที่เป็นเซ็กเมนต์ที่แตกต่างกับอีวีที่เอ็มจีจำหน่ายในปัจจุบันเข้ามาเสริมตลาดได้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเงื่อนไขของมาตรการใหม่ที่มีสิทธิประโยชน์ลดลงเชื่อว่าจะไม่มีผลมากนัก เพราะลดในส่วนเงินอุดหนุนโดยตรง ขณะที่เงื่อนไขอื่นยังอยู่ โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ซึ่งมีผลต่อโครงสร้างราคาพอควร

จุดคุ้มทุนการผลิต 1 แสนคัน/ปี

ขณะที่เงื่อนไขการผลิตคืนที่เข้มข้นขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้ผลิต 1 เท่า (หากเริ่มผลิตปี 2567) และ 1.5 เท่า (หากเริ่มผลิตปี 2568) ของจำนวนรถที่ใช้สิทธิ์ เป็น 2 เท่า (2569) และ 3 เท่า (2570) จะไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ประกอบการ เพราะการลงทุนตั้งโรงงานทุกรายต้องการผลิตรถจำนวนมากเพื่อให้มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ (economies of scale) และถึงจุดคุ้มทุนเร็ว

“โดยปกติการตั้งโรงงานก็จะต้องมีการผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน อย่างเช่นที่ผ่านมา การผลิตของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็มองไว้ที่ปีละ 1 แสนคัน”

และการผลิตคืนของหลายโรงงานรวมกันจะไม่มีผลต่อภาวะล้นตลาด เพราะเงื่อนไขการผลิตคืนของภาครัฐนั้น สามารถทำตลาดได้ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก

รวมทั้งประเด็นที่มองไปยังกลุ่มผู้ประกอบการสัญชาติจีน เชื่อว่าจะตรงเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจจีน หรือ รัฐบาลจีน ที่เห็นว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว การมองหาตลาดต่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญและทุกรายมาลงทุนต่างมองตลาดประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเหมือนไทย

ส่วนสิ่งที่ไทยจะได้จากมาตรการ EV 3.5 คือ เทคโนโลยี และตลาดที่ขยับขึ้น เพราะเงื่อนไขที่เข้มขึ้น โดยเฉพาะความจุแบตเตอรีจากเดิมที่กำหนดเพดานที่ 30 kWh เพิ่มเป็น 50 kWh ทำให้รถที่จะร่วมโครงการและได้สิทธิพิเศษสูงสุด จะสะดวกในการใช้งานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น และรองรับการเดินทางไกลขึ้น

ส่วนภาพรมของตลาดอีวีจะขยายตัวแค่ไหนขึ้นกับรุ่นรถที่จะมาทำตลาด และโครงสร้างราคาที่ตรงความต้องการผู้บริโภค แต่เชื่อว่าตลาดยังขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงส่วน ปีนี้คาดว่าตลาดรวมอีวีจะอยู่ระดับ 8 หมื่นคัน

“อีวีในปีนี้มี 8 หมื่นคัน ส่วนปี 2565 ที่เริ่มมีมาตรการอีวี 3.0 มีตลาด 1 หมื่นคัน ดังนั้นปี 2567 ที่หลายบริษัทเริ่มผลิตคืนจะผลิตอีวีในประเทศ 9 หมื่นคัน” นายสุรพงษ์กล่าว