"OECD" ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 โต 3.6% แนะใช้นโยบายเพิ่มศักยภาพการคลัง

"OECD" ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 โต 3.6% แนะใช้นโยบายเพิ่มศักยภาพการคลัง

"OECD" เผยแพร่ผลการศึกษารายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 ที่ทำงานร่วมกับ "สภาพัฒน์" มองเศรษฐกิจไทยปี67 โต 3.6% แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง ลดมาตรการอุดหนุนที่ใช้ในช่วงโควิด-19 กลับสู่การสร้างการคลังที่มีเสถียรภาพ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดให้มีการประชุมหารือระดับสูงและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566
เวลา 8.30-13.30 น.

 โดยได้รับเกียรติจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการเปิดการประชุม รวมทั้ง Dr. Luiz de Mello, Director of the Policy Studies, Economics Department, OECD ได้นำเสนอผลการศึกษารายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 (The Second OECD Economic Survey of Thailand) และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อคิดเห็นต่อรายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการเสวนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงที่หนึ่งเป็นการเสวนาวิชาการเรื่อง Key Policy Insights for a Robust Recovery Path for Thai Economy

มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย (1) Dr. Jens Arnold, Head of Division, Country Studies, OECD

(2) ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานโยบายการคลังท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

(3) ดร. ดร.อัครพล ฮวบเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และ

(4) ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก

\"OECD\" ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 โต 3.6% แนะใช้นโยบายเพิ่มศักยภาพการคลัง

และในช่วงที่สองการเสวนาวิชาการเรื่อง Strong and Inclusive Green Recovery โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย

(1) Dr. Jens Arnold, Head of Division, Country Studies, OECD

(2) ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

และ (3) ดร. ขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก

โดยมี ดร. อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สศช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

สำหรับผลการศึกษารายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 โดย OECD สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างและปฏิรูปในหลายประเด็นเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

 

ทั้งนี้ ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ซึ่งส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

ดังนั้น ในระยะต่อไป แนวทางการดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อปรับสถานะทางการคลังให้เข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น และเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ขณะเดียวกันควรดำเนินการอย่างสอดรับควบค่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงต้องมุ่งเน้นต่อการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งการทยอยยกเลิกมาตรการช่วยเหลือที่ดำเนินการในช่วงของการแพร่ระบาด โดยเห็นว่าควรเหลือไว้เฉพาะมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่มีความจำเป็น

 

รายงานของ OECD ชี้ให้เห็นว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างอย่างต่อเนื่องโดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพและระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ดี แต่พบว่ากำลังแรงงานในวัยหนุ่มสาวยังไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานดังกล่าว ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการรับมือกับประเด็นความท้าทายเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวนโยบายจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้นท่ามกลางการลดลงของ

กำลังแรงงาน นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ผ่านมาตรการที่สำคัญ อาทิ การผ่อนคลายข้อจำกัดในการเข้าร่วมในตลาด การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะภาคบริการ และการขยายการเจรจาทางการค้าเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การค้าโลกได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ต้องมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนับสนุนครัวเรือนเปราะบาง ขณะที่นโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม (Inclusive Growth) และลดความเหลื่อมล้ำยังคงมีความจำเป็น แม้ว่าการกระจายรายได้ของไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปี 2530 เป็นต้นมา เนื่องจากแรงงานมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดยังคงเป็นแรงงานนอกระบบ และไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม

 

สำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง ซึ่งต้องอาศัยทั้งการใช้มาตรการด้านการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ควบคู่ไปกับ

การบังคับใช้กฎระเบียบที่มีความเข้มข้น ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าโดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และการทยอยปรับลดการดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐลง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม