‘ไทย’เตรียมยื่นสมัครสมาชิก ‘OECD’ ‘สภาพัฒน์’ เล็งเสนอ ครม.เห็นชอบในปีนี้

‘ไทย’เตรียมยื่นสมัครสมาชิก ‘OECD’  ‘สภาพัฒน์’ เล็งเสนอ ครม.เห็นชอบในปีนี้

"สภาพัฒน์" ร่วมประชุม ERC รายงานความก้าวหน้า Country Programme ระยะที่ 2 ของกลุ่มประเทศ OECD แสดงความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม เผยเตรียมชงเรื่องการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD เข้า ครม.

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะเจ้าหน้าที่ สศช. เดินทางเข้าร่วมการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) External Relations Committee (ERC) เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Country Programme (CP) ระยะที่ 2 ระหว่างไทยกับ OECD โดยมี Ms. Anna Cameron รองผู้แทนถาวรนิวซีแลนด์ประจำ OECD และ Ms. Dovile Pauzaite อัครราชทูตที่ปรึกษา คณะผู้แทนถาวรลิทัวเนียประจำ OECD ทำหน้าที่ประธานร่วม และมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก OECD ทั้ง 38 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 9 – 13 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

สำหรับการดำเนินการระยะถัดไป สศช. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในปี 2566 เพื่อขอความเห็นชอบการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมของไทยอย่างเป็นรูปธรรม และ สศช. มีแผนที่จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ครั้งที่ 1 ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 และครั้งที่ 2 ให้กับภาคเอกชน ภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยอย่างเข้มแข็งและเป็นองค์รวมต่อไป

รองเลขาธิการฯ ในฐานะผู้แทน สศช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล ประสานงาน ติดตาม และประเมินภาพรวมการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่มีการลงนาม MOU ระหว่างไทยกับ OECD ในเดือนมีนาคม 2566 โดยระบุว่า โครงการย่อยทั้ง 20 โครงการ ภายใต้ 4 สาขาความร่วมมือ ได้แก่

  1. หลักธรรมาภิบาล (Good Governance)
  2. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate and Competitiveness)
  3. ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์ (Social Inclusion and Human Capital Development)
  4. การฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery) ได้เริ่มดำเนินการทั้งหมดแล้ว โดยหน่วยงานไทยและ OECD ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ การตอบแบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึก การจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยโครงการทั้งหมดมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะดำเนินงานแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2569 

สำหรับโครงการย่อยภายใต้ CP ระยะที่ 2 ที่ สศช. รับผิดชอบ ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

  1. Maintaining a Sound Economic Policy through the Second Economic Survey
  2. Boosting Productivity
  3. Advancing Sustainable Infrastructure Programme in Thailand 
  4. Strategic Coordination, Monitoring and Evaluation ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่ 1 ที่ สศช. และ OECD มีกำหนดจะนำเสนอรายงานการสำรวจและประเมินสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ปี 2566 (Thailand’s Economic Assessment 2023) ซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญของโครงการ ร่วมกันในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ณ กรุงเทพฯ

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการฯ กล่าวเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ไทยสามารถเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมาย (Legal Instruments) ของ OECD เพิ่มขึ้น 

รวมถึงการยกระดับสถานะของไทยในคณะกรรมการ OECD (OECD Committee) ให้มีสถานะ Participant และ Associate/Member เพื่อเพิ่มบทบาทและสร้างการมีส่วนร่วมของไทยในคณะกรรมการนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยในอนาคต โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก OECD ประกอบด้วย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ และลิทัวเนีย กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของไทยภายใต้โครงการ CP ระยะที่ 2 รวมทั้งยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนไทยสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต

นอกจากนี้ ในห้วงการประชุม ERC รองเลขาธิการฯ ยังได้หารือทวิภาคีกับ Mr. Alexander Bohmer, Head of South and Southeast Asia, Global Relations and Co-operarion Directorate (GRC) และคณะเจ้าหน้าที่ GRC เกี่ยวกับการเตรียมยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD และแนวทางการดำเนินการในภาพรวม โดย สศช. ในฐานะหน่วยงานประสานหลัก ได้รับข้อมูลการประเมินความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิก OECD จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 40 หน่วยงาน พบว่าไม่มีข้อขัดข้องต่อการเข้าเป็นสมาชิก พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับการเตรียมความพร้อมของไทย ซึ่งถือเป็นการตอบรับเชิงบวกจากหน่วยงานต่อการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยในอนาคตอันใกล้

‘ไทย’เตรียมยื่นสมัครสมาชิก ‘OECD’  ‘สภาพัฒน์’ เล็งเสนอ ครม.เห็นชอบในปีนี้

เปิดขั้นตอนเข้าเป็นสมาชิก OECD

ส่วนการหารือครั้งนี้ Mr. Alexander Bohmer ได้อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกโดยละเอียด โดยเฉพาะภายหลังการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงแล้ว คณะมนตรี OECD (OECD Council) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก OECD ทั้ง 38 ประเทศ จะใช้เวลาในการหารือเพื่อมีมติเอกฉันท์รับไทยเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession process) หลังจากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 เดือน เพื่อจัดทำ Accession Roadmap ให้กับไทย ซึ่งในขั้นตอนนี้ ไทยถึงจะทราบว่าจะต้องปรับปรุงมาตรฐานด้านใดให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD โดยไทยจะดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการ OECD ประมาณ 25 คณะกรรมการ เพื่อประเมินทางเทคนิคเชิงลึกสำหรับการปรับมาตรฐาน โดยขั้นตอนนี้หน่วยงานไทยสามารถเจรจาเพื่อจัดทำข้อสงวนบางประการได้ และเมื่อผ่านการประเมินแล้วจึงจะเข้าสู่การยอมรับข้อผูกพันทางกฎหมายเพื่อเข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ต่อไป ทั้งนี้ ระยะเวลาของกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของหน่วยงานไทยและคณะกรรมการ OECD ชุดนั้น ๆ เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ Mr. Alexander Bohmer ยังให้คำแนะนำกับไทยในการหารือกับประเทศที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิก และประเทศที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย GRC ในฐานะหน่วยงานหลักของ OECD ในการประสานงานและดูแลภาพรวมการสมัครเข้าเป็นสมาชิก

โดยยินดีให้คำปรึกษาและดำเนินการร่วมกับ สศช. และหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย