‘สภาพัฒน์’ ร่วมประชุม ‘OECD’ หาแนวทางยกระดับ ‘เศรษฐกิจไทย’

‘สภาพัฒน์’ ร่วมประชุม ‘OECD’  หาแนวทางยกระดับ ‘เศรษฐกิจไทย’

"สภาพัฒน์" เข้าการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการพัฒนา ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พิจารณารายงานการสำรวจเเละประเมินสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2566 พร้อมเดินหน้ายกระดับเศรษฐกิจประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  พร้อมด้วย นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช. และคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการพัฒนา (Economic and Development Review Committee: EDRC) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อพิจารณารายงานการสำรวจเเละประเมินสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2566 (Economic Survey of Thailand 2023) ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยได้รับเกียรติจากท่านธนา เวสโกสิทธิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เข้าร่วมกล่าวคำเปิดในการประชุมด้วย

‘สภาพัฒน์’ ร่วมประชุม ‘OECD’  หาแนวทางยกระดับ ‘เศรษฐกิจไทย’

การประชุม EDRC ถือเป็นการประชุมสำคัญที่มีองค์คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิก OECD ในการให้ความคิดเห็นต่อร่างรายงาน Economic Survey ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักของโครงการ Maintaining a Sound Economic Policy through the Second Economic Survey ภายใต้โครงการความร่วมมือ Country Programme (CP) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ OECD ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ รวมทั้งทบทวนประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศในระยะต่อไป

 

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการฯ และผู้แทนจาก OECD พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ประเด็นความท้าทายด้านต่าง ๆ ตลอดจนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้ไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและเป็นธรรมโดยเฉพาะการดูแลแรงงานนอกระบบ  การยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social safety net) นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้นำเสนอแนวทางการเตรียมการเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  ตามที่ประเทศไทยได้กำหนดไว้ภายในปี 2565

โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การเตรียมกลไกในการส่งเสริมการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon pricing) ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน

การส่งเสริมนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green innovation) และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)

ทั้งนี้ ทีมผู้จัดทำรายงานของ OECD และ สศช. ยังได้ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขร่างรายงานฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD นำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป