'ครม.สัญจร' ไฟเขียว 'easy e-receipt' ลดภาษีจากการใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท/คน

'ครม.สัญจร' ไฟเขียว 'easy e-receipt' ลดภาษีจากการใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท/คน

ครม.สัญจรไฟเขียวโครงการ easy e-receipt ซื้อสินค้าตั้งแต่ 1 ม.ค.ขอใบลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาทต่อคน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับกลุ่มคนที่เงินเดือนเกิน 7 หมื่นบาท และเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.หนองบัวลำภู ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน วันนี้ (4 ธ.ค.) เห็นชอบโครงการ อีซี่ อี-รีซีท (easy e-receipt) หรือชื่อโครงการเดิมคือ อี-รีฟันด์ (e-Refund) ที่ให้ประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องชำระภาษี ไปจับจ่ายใช้สอยในวงเงิน 5 หมื่นบาท กับร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษี/ใบรับ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

โครงการ ซึ่งสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหากคิดบนฐานภาษี 7 หมื่นบาทต่อเดือน และได้ลดภาษี 20% ของการใช้จ่ายสูงสุด 5 หมื่นบาท เท่ากับว่าได้สิทธิลดหย่อน 1 หมื่นบาท เท่ากับเงินดิจิทัลวอลเล็ต

โดยจะเริ่มดำเนินการวันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2567 หรือราว 45 วัน

\'ครม.สัญจร\' ไฟเขียว \'easy e-receipt\' ลดภาษีจากการใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท/คน

นอกจากนี้ โครงการอีซี่ อี- รีซีท ยังจูงใจร้านค้าในระบบภาษีเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ที่เมื่อใครก็ตามใช้จ่ายระบบจะเก็บข้อมูลแส่งกรมสรรพากรทันที ไม่ต้องมาเก็บเอกสาร ใบเสร็จ ใบกำกับภาษีเอง

เงื่อนไขสำหรับอีซี่ อี-รีซีท (easy e-receipt) ได้แก่ 

  1. สำหรับผู้ที่ไม่ได้เงินในโครงการ Digital Wallet 1 หมื่นบาท
  2. ลดหย่อนภาษีได้ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือน มกราคม 2567
  3. ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในฐานระบบภาษี ที่สามารถออกใบกำกับภาษีในรูปอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
  4. นำใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้

 

ทั้งนี้จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร เว้นแต่ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ 


(1) ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร 

(2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 

(3) ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

2. ค่าสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถหักลดหย่อนได้ไม่รวมถึง 

(1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 

(2) ค่าซื้อยาสูบ 

(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 

(4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 

(5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม 

(6) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิติบุคคล (ไม่จำกัดรายได้) สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://etax.rd.go.th และสำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Email

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าโครงการลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าให้กับผู้มีรายได้สูงถือเป็นอีกหนึ่งในมาตรการที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันโครงการเติมเงินในโครงการกระเป๋าตัง Digital Wallet คนละ 10,000 บาท ให้กับ 50 ล้านคน

สำหรับคุณสมบัติของผู้รับเงินในโครงการ Digital Wallet ได้แก่

  1. ชาวไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป
  2. มีรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาทต่อเดือน
  3. มีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้ 6 เดือน ครอบคลุมการใช้จ่ายระดับอำเภอตามบัตรประชาชน
เริ่มใช้ตั้งแต่ พฤษภาคม 2567 และสิ้นสุดโครงการ ปี 2570

โดยทั้ง 2 โครงการ คือ เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตและอีซี่ อี-รีซีท (easy e-receipt) จะมีเม็ดเงินมูลค่าประมาณ  6 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นโครงการ Digital Wallet 5 แสนล้านบาท และโครงการ อีซี่ อี-รีซีท (easy e-receipt) อีก 1-2 แสนล้านบาท