สศช.หวังเร่งลงทุน ‘เอฟดีไอ’ เพิ่มแรงหนุนเศรษฐกิจไทยปี 67

สศช.หวังเร่งลงทุน ‘เอฟดีไอ’ เพิ่มแรงหนุนเศรษฐกิจไทยปี 67

ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินการลงทุนภาเอกชนจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2567

สศช.มองว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ประกาศมาล่าสุดเกี่ยวกับการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติและภายในประเทศพิจารณาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายและจะเป็นแรงขับเคลื่อน สำคัญให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2567 ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง 

ในขณะที่การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2564 มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5.9 แสนล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 5.2 แสนล้านบาท ขยายตัวในเกณฑ์สูง 21.9% โดยคำขอรับการส่งเสริมตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีสัดส่วนเฉลี่ย 70% ของมูลค่าลงทุนรวม และอุตสาหกรรมเป้าหมายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (มูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2564 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท สัดส่วน 25.8%) 
  2. การเกษตร และแปรรูปอาหาร (มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท สัดส่วน 11.2%) 
  3. ยานยนต์และชิ้นส่วน (มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท สัดส่วน 10.6%)
  4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท สัดส่วน 7.9%) 
  5. การแพทย์ (มูลค่า 0.9 แสนล้านบาท สัดส่วน 5.6%)

รวมทั้งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีบริษัทต่างชาติที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ที่สำคัญในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนี้ 

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จำกัด และบริษัท GAC AION New Energy Automobile Company Limited 
  2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
  3. ไฟฟ้าจากชีวมวล อาทิ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด 
  4. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อาทิ บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด 

ทั้งนี้หากมีการเร่งรัดโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้ให้สามารถเกิดการลงทุนจริงได้โดยเร็ว จะช่วยสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศในปี 2567 ได้

สำหรับแนวทางการด่าเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่สำคัญ นอกจากกรอบมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ของบีโอไอ ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566 แล้ว ในช่วงปลายปี 2566 บีโอไอได้ออกมาตรการการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 มาตรการ ได้แก่ 

1.มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ (วันที่ 9 พ.ย.2566) ประกอบด้วย การจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ  รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ และการประสานความร่วมมือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่ออ่านวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการลงทุน หรือ Ease of Investment 

2.มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (2567-2570) หรือ มาตรการ EV 3.5 (วันที่ 1 พ.ย.2566) โดยจะลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท 

ทั้งนี้ได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการน่าเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 2570 

รวมทั้งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนทั้งต่างชาติและภายในประเทศพิจารณาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2567 ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง

สศช.หวังเร่งลงทุน ‘เอฟดีไอ’ เพิ่มแรงหนุนเศรษฐกิจไทยปี 67

ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยกำหนดประเด็น 4 ด้านปรับปรุงกฎหมายระยะแรก ซึ่งตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลที่จะสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจและสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน โดยมีคณะอนุกรรมการ 4 คณะรายงานนายกรัฐมนตรีทุก 60 วัน ดังนี้

1.ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ในบริบทการขออนุญาตทำงาน การรายงานตัว รวมทั้งยกเว้นใช้แบบรายการคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ให้ครอบคลุมพาหนะทางบกและทางเรือ การดำเนินการที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือการเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรและการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ

2.ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก (Super License) เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ขอรับอนุญาตในประเภทธุรกิจที่มีใบอนุญาตจำนวนมากให้ใช้ใบอนุญาตหลักใบเดียว โดยดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ กิจการร้านอาหาร ธุรกิจที่พักขนาดเล็กและการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย

3.ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการนำเข้าส่งออกสินค้าเพื่อลดข้อจำกัดและระยะเวลาของผู้ประกอบการ เช่น การลดการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transhipment)

4.ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยจะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพลังงานชาติ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เป็นประธานอนุกรรมการ