'เอกชน' วอน 'พีระพันธุ์'  รื้อโครงสร้างพลังงาน แก้ 'ค่าไฟแพง' ทั้งระบบ

'เอกชน' วอน 'พีระพันธุ์'  รื้อโครงสร้างพลังงาน แก้ 'ค่าไฟแพง' ทั้งระบบ

"เอกชน" สะท้อนภาพการบริหารงานและนโยบายด้านพลังงาน หวัง "พีระพันธุ์" รื้อโครงสร้างพลังงาน เอื้อค่าไฟถูกระยะยาว มอง "กกพ. "เป็นแค่หนังหน้าไฟ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการที่มติสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ได้ประกาศค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้า 4.68 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นมาร่วม 17% จากราคาปัจจุบัน ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย 

ทั้งนี้ ระดับนโยบายควรต้องทบทวนมาตรการ/นโยบาย ที่จะช่วยให้ค่าไฟงวดเดือนม.ค. -เม.ย. 2567 เหมาะสมที่สุด เพราะจากที่ กกพ. มีมติตัวเลขค่าเฟทีออกมา โดยที่ไม่มีแผนปรับปรุงลดค่าไฟฟ้า และปรับโครงสร้างใด ๆ รองรับเลย ทั้ง ๆ ที่หลายภาคส่วนนำเสนอแนวทางมาโดยตลอด ซึ่ง สอท. มีมาตรการระยะสั้น กลาง และ ระยะยาว แบ่งเป็น

การเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น เพื่อลดค่าเอฟที ซึ่งการที่ภาครัฐให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รัฐบาลก็จะต้องใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วย เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลมีระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น 5 ปี, ปัญหาซัพพลายสูงเกินดีมานด์ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย (AP) โดยลดมาจิ้นไม่เร่งการเพิ่มซัพพลาย พร้อมเพิ่มดีมานด์การใช้พลังงานสะอาดของ EV Bus และ EV Truck

ส่งเสริมและปลดล็อคพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ โดยการลดมาร์จิ้นก๊าซธรรมชาติ แล้วเพิ่มสัญญาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)  ให้ใกล้เคียงกับการขายของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และปรับสูตรราคาก๊าซธรรมชาติโดยให้ราคาขายก๊าซเพื่อใช้ในปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับขายให้โรงไฟฟ้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหา ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทั้งรูปแบบ Longterm และ Spot

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวนั้น ภาครัฐควรเร่งเจรจาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ, พร้อมเร่ง  TPA ระบบโลจิสติกส์ของทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และลดการผูกขาดใด ๆ รวมถึงปรับกลไกการบริหารพลังงาน และค่าไฟฟ้าทั้งระบบทั้งระดับ Policy/Regulater/Operation ให้โปรงใสตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล และควรจัดตั้งเวที กรอ.พลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ กกพ. ถือเป็นหน่วยงานที่ทราบปัญหาค่าไฟฟ้าดีที่สุด น่าจะมีข้อเสนอแนะเพื่อให้ภาคนโยบายขับเคลื่อนได้ ไม่ควรเป็นเพียงหน่วยงานคำนวณตัวเลข เอาต้นทุน สมมุติฐานต่าง ๆ จาก Operators มาคิดตามหลักการเดิม ๆ 

"ประชาชนไม่ควรต้องมาลุ้นทุก ๆ 4 เดือน ว่าจะมีข่าวดีหรือข่าวร้ายจาก กกพ. อีกทั้งข่าวที่ออกมายังกระทบต่อราคาหุ้นโรงไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อไม่มีการแก้โครงสร้างค่าไฟที่เหมาะสม การนำเสนอค่าไฟที่ถูกลงเสมือนเป็นข่าวดีที่เอาใจประชาชนตามมาจากระดับนโยบาย สุดท้าย กกพ. ก็จะเป็นแค่หนังหน้าไฟให้ผู้บริโภคถล่มก่อนที่ภาคนโยบายจะออกมาตรการมาสนับสนุนเหมือนครั้งที่ผ่านมา"

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมั่นใจว่า ระดับนโยบายโดยรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ทำงานผ่านมาแล้วร่วม 3 เดือน น่าจะต้องมีเรื่องนโยบายที่ดีเพื่อปรับโครงสร้าง และแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างเป็นระบบ ด้วยมาตรการเชิงรุก ทั้งนี้ เพื่อลดค่าของชีพของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ แม้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่กกพ.ประกาศออกมาจะเป็นไปตามหน้าที่ของกกพ. แต่เชื่อว่าทางฝ่ายนโยบายจะไม่เลือกแนวทางที่ประกาศออกมาอย่างแน่นอน โดยปรับลดต้นทุนต่างๆ ตามที่ก่อนหน้านี้ทางฝ่ายเอกชนได้นำเสนอไปบ้างแล้ว เช่น การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้เหมาะสม ไม่ควรมีกลุ่มธุรกิจใดได้ประโยชน์มากกว่าประชาชน แนวทางการจ่ายหนี้กฟผ. จึงต้องรอดูการตัดสินใจราคาสุดท้ายของฝ่ายนโยบายจะเคาะออกมาเท่าไร เบื้องต้นตนมองว่า ไม่ควรเกินกว่าราคาค่าไฟในงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท

อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพจากค่าไฟฟ้า และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความขัดแย้งกันหรือไม่ ในยามที่ประชาชนยังไม่รู้ว่าจะได้รับเงินดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่ หรือหากได้รับเงินจริง ๆ  ก็คาดว่าประชาชนจะเริ่มใช้ได้อย่างเร็วน่าจะช่วงเดือนพ.ค. 2567

"ค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค-เม.ย. 2567 จะขึ้นราคาอย่างน้อย 17% ดังนั้น ตนจึงขอข้อเสนอปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่สอท. เสนอไปทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งควรจะได้รับการพิจารณาดำเนินการ และชี้แจงจากผู้รับผิดชอบถึงแนวทางหรือความคืบหน้าต่อประชาชน โดยเฉพาะความสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณเป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือไม่ ฝ่ายนโยบายยังสามารถเลือกใช้คนเก่ง คนดี ทำงานเชิงรุก สร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถสนองนโยบายที่ดี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้งได้"