คลังดึงแบงก์รัฐและเอกชนร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

คลังดึงแบงก์รัฐและเอกชนร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

คลังดึงแบงก์รัฐและเอกชนร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน กรณีลูกหนี้นอกระบบจะผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อเปิดช่องให้ลูกหนี้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย พร้อมลดดอกเบี้ยที่คิดเกินความเสี่ยงลูกหนี้ในระบบ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างเร่งสรุปพิจารณามาตรการเข้าไปสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยมาตรการที่พิจารณานั้น จะมีส่วนช่วยเหลือทั้งลูกหนี้ในระบบและนอกระบบ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะแบงก์รัฐเข้ามาร่วมมาตรการ ส่วนแบงก์เอกชนนั้น จะใช้แนวทางการขอความร่วมมือ

สำหรับ แนวมาตรการในการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงการคลังจะพยายามเปิดช่องทางให้ลูกหนี้นอกระบบได้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้มากขึ้น โดยให้แบงก์รัฐเป็นหน่วยงานที่เปิดรับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ซึ่งแบงก์รัฐเองจะต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากที่สุด

ทั้งนี้ หน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหานี้ จะเป็นหน่วยงานฝ่ายปกครอง เช่น กระทรวงมหาดไทย และตำรวจ เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนในทุกพื้นที่มากที่สุด เมื่อหน่วยงานดังกล่าวสามารถเข้าไปปิดช่องปัญหาหนี้นอกระบบได้แล้ว กระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานเสริมที่จะทำให้ลูกหนี้มีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนได้มากที่สุด

ส่วนแนวมาตรการในการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบนั้น กระทรวงการคลังจะขอความร่วมมือไปยังแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ต่างๆในการเข้าไปช่วยลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ เบื้องต้น จะต้องประเมินว่า สถานะของลูกหนี้ในปัจจุบันนั้น ประสบปัญหาด้านใด ไม่ว่า จะเป็นมูลหนี้ที่มีปริมาณมาก หรือ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง หากพบว่า ปัญหานั้นๆเป็นปัจจัยให้การแก้ไขหนี้ได้ล่าช้า ก็จะเข้าไปแก้ในจุดนั้น เป็นต้น

เขายกตัวอย่าง กรณีที่ลูกหนี้ประสบปัญหาด้านอัตราดอกเบี้ยที่คิดเกินความเสี่ยงของลูกหนี้มากเกินไปเราก็จะขอความร่วมมือให้แบงก์ช่วยลดดอกเบี้ยลงมา ยกตัวอย่าง สินเชื่อสำหรับข้าราชการ พนักงานราชการ และ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งรับการชำระเงินสินเชื่อผ่านการหักเงินเดือนของผู้กู้ในทุกเดือน ถือว่า ความเสี่ยงต่ำมาก ดังนั้น หากมีโปรดักส์สินเชื่อในลักษณะนี้กับแบงก์อื่นๆเราก็จะขอความร่วมมือให้ลดดอกเบี้ยลงมา เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะใช้ช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เช่น นาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ให้เปิดช่องทางหรือผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ประชาชนรายย่อยให้มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน รายย่อยส่วนใหญ่ได้ใช้ช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนจากผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้

เขายังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับสูงเรื้อรัง ซึ่งฉุดรั้งการบริโภคภายในประเทศ โดยหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 90.7% ต่อ GDP สูงทะลุ 80% ต่อ GDP มาแล้ว 10 ปี ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะครัวเรือนฐานราก โดยระดับที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ BIS ไม่ควรเกิน80% เพราะถ้าเกินจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว จากผลการสำรวจพบว่า จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงเหลือ 48.5% แต่มูลค่าหนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 2.08 แสนบาท/ครัวเรือน

”หนี้ครัวเรือนที่ไม่กระทบเสถียรภาพควรอยู่ที่ 80% แต่ต้องดูไส้ในว่า หนี้ครัวเรือนเป็นหนี้อะไร เท่าที่ดูในโครงสร้างไม่มีอันตราย เพราะ 50% ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น หนี้บ้าน รถ ไม่ใช่บัตรเครดิต แต่ต้องหาวิธีรับมือจริงจัง โดยรัฐบาลกำลังจะหาแนวทางแก้ไขทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ ถ้าเราแก้ได้ หนี้จะลดลง เราต้องก้าวความท้าทายนี้ให้ได้”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของนักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมผ่านกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านการลดดอกเบี้ยลงจำนวนมาก และเปิดช่องทางในการชำระเพื่อลดเงินต้น เชื่อว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยภาระให้แก่ลูกหนี้ได้ และ ด้วยแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการทั้งหมดจะช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ