หนี้สินล้นพ้นตัว ลาวเสี่ยงวิกฤติถ้าไม่รีบแก้ไข

หนี้สินล้นพ้นตัว ลาวเสี่ยงวิกฤติถ้าไม่รีบแก้ไข

สัญญาณเตือนวิกฤติหนี้ลาวเพิ่มขึ้นไม่หยุดในระยะหลัง เพิ่มความกังวลเรื่องภาวะหนี้สินที่มีกับจีน กูรูแนะเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

Key Points:

  • ไอเอ็มเอฟประเมินหนี้สาธารณะราวปีนี้ที่ 122% ของจีดีพี
  • ส่วนใหญ่เป็นหนี้จีนตามข้อตกลงสร้างโครงสร้างพื้นฐานสายแถบและเส้นทาง 
  • จีนพักชำระหนี้ 3 ปี ลดหนี้ได้ 8% ของจีดีพีแต่ก็ทำให้แค่นั้น 

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดของลาวช่วงปลายปี 2556 นับตั้งแต่นั้นอิทธิพลจีนมีแต่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หนี้สาธารณะของลาวที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินไว้ที่ 122% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้รัฐบาลปักกิ่งผลจากการทำข้อตกลงสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ของจีน

ลาวกู้ยืมเงินหลายพันล้านจากรัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นำมาสร้างทางรถไฟ ทางหลวง และเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศจึงหมดไประหว่างดำเนินการ ประกอบกับราคาอาหารและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทั่วโลก ผสมด้วยวิกฤติค่าเงิน เงินกีบลาวอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ กระตุ้นให้เงินเฟ้อพุ่งจนเกิดความหวาดวิตกกันมากว่าเศรษฐกิจลาวล่มสลายหากวิกฤติเกินควบคุม

เพื่อรับมือสถานการณ์ รัฐบาลลาวใช้มาตรการสร้างเสถียรภาพหลายอย่าง เช่น ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ออกพันธบัตร ร่วมมือบริหารจัดการหนี้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และลดรายจ่ายในภาคบริการสำคัญอย่างการศึกษาและสาธารณสุข

แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า ถ้าไม่ทำข้อตกลงลดหนี้อย่างชัดเจนกับจีน ความยากลำบากด้านการเงินของลาวไม่น่าจะบรรเทาลงได้

“ลาวควรเจรจาจัดการเงินกู้กับจีน เช่น ลดหนี้ในมูลค่าสุทธิ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้ลาวใช้หนี้ได้อย่างยั่งยืน” โทชิโร นิชิซาวา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวและว่า การขยายเวลาชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง เช่นเดียวกับแนวทางเน้นสภาพภูมิอากาศเป็นศูนย์กลาง เช่น หนี้แลกสภาพภูมิอากาศ ที่ลาวต้องปฏิบัติตามนโยบายสิ่งแวดล้อมแลกกับการลดหนี้

บรรเทาหนี้ระยะสั้น

จีนบรรเทาหนี้ระยะสั้นให้ลาวเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2563-2565 ช่วย “บรรเทาทุกข์ชั่วคราว” ธนาคารโลกประเมินว่า การพักชำระหนี้ช่วงสามปีที่ผ่านมามากถึงราว 8% ของจีดีพีลาวในปี 2565 แต่นับถึงขณะนี้ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็กรุณาให้แค่ยืดเวลาชำระหนี้เท่านั้น

“จากแนวทางที่จีนเคยใช้ก่อนหน้านี้ จีนอาจบรรเทาหนี้ระยะสั้นให้ แต่ก็เพียงแค่นั้น” มาริซา คูเรย์ นักวิจัยและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากศูนย์พัฒนาอินโดแปซิฟิก สถาบันโลวี กล่าวไว้ในรายงานฉบับหนึ่งตีพิมพ์ก่อนหน้านี้

“เหมือนกับศรีลังกาและแซมเบีย ถึงขณะนี้จีนยังไม่อยากลดหนี้ให้ แม้มีสัญญาณชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วอาจต้องทำ เพื่อผลประโยชน์กับทุกฝ่าย กรณีลาวจีนต้องทำมากกว่าและทำอย่างรวดเร็ว” คูเรย์ระบุในรายงาน ซึ่งซีเอ็นบีซีได้สอบถามความเห็นไปยังกระทรวงการต่างประเทศจีนแล้ว

การป้องกันไม่ให้ลาวผิดนัดชำระหนี้คือผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของปักกิ่ง ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างจีนกับลาวช่วยหนุนสถานะของปักกิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่วอชิงตันเพิ่มอิทธิพลในอินโดแปซิฟิก การเป็นสังคมนิยมเหมือนกันของจีนและลาวเป็นอีกหนึ่งปัจจัย 

ยิ่งไปกว่านั้น “ธนาคารจีนไม่อยากเป็นเจ้าหนี้แบกรับสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จีนเองก็ไม่อยากถูกมองว่าเป็นผู้ปล่อยกู้ที่เชื่อถือไม่ได้ของประเทศกำลังพัฒนา จีนไม่ต้องการและไม่สามารถปล่อยให้ลาวผิดนัดชำระหนี้ได้” นิชิซาวาย้ำ

กังวล ‘กับดักหนี้’

รายงานข่าวจำนวนหนึ่งเตือนถึงสิ่งที่เรียกว่ากับดักหนี้ ฉากทัศน์ที่ปักกิ่งยึดโครงสร้างพื้นฐานมีค่าในลาว หากลาวเบี้ยวหนี้หรือจ่ายหนี้ไม่ทันเวลา

ความกังวลเพิ่มมากขึ้นหลังรัฐวิสาหกิจพลังงาน Électricité du Laos ที่คิดเป็นราว 37% ของหนี้ต่างประเทศลาว ลงนามข้อตกลงสัมปทาน 25 ปี กับไชนาเซาเทิร์นพาวเวอร์กริดในปี 2564 เปิดให้รัฐวิสาหกิจจีนรายนี้เข้ามาถือหุ้นใหญ่และได้สิทธิส่งไฟฟ้าลาวออกไปต่างประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองข้ามความหวาดวิตกเรื่องการทูตกับดักหนี้ของจีนในประเทศบีอาร์ไอ 

เดบอราห์ เบราติกัมจากโครงการวิจัยจีนแอฟริกา (ซีเออาร์ไอ) แห่งจอห์นส ฮอปกินส์ และเม็ก ริธไมร์ จากวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด ยกตัวอย่างศรีลังกา เป็นหนี้ญี่ปุ่น ธนาคารโลก และเอดีบีมากกว่าจีน

“เมื่อเกิดปัญหาหนี้เราไม่เห็นธนาคารจีนพยายาม ‘ยึดสินทรัพย์’ และถึงขณะนี้ในแอฟริกาไม่มีคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลเลย ในทางกลับกันทางการจีนกำลังพยายามหาทางออกที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาหนี้ (และพัฒนา) อย่างยั่งยืนเป็นกรณีๆ ไป” ซีเออาร์ไอระบุในรายงานวิจัยปี 2563

ท้ายที่สุดแล้วลาวต้องรับการลงทุนจากต่างชาติให้หลากหลาย แต่เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจลาว จึงเป็นเรื่องยากจะทำให้สำเร็จได้ถ้าไม่ทำข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้

เปโดร มาร์ตินส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกสำนักงานลาวมองว่า การต่อรองหนี้ที่กำลังดำเนินอยู่ให้สำเร็จเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่จีนแต่หมายถึงเจ้าหน้าที่ลาวทุกรายซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินรายใหญ่ๆ ด้วย

ในระหว่างนี้รัฐบาลเวียงจันทน์ยังมีทางเลือกมากมายให้เลือกใช้

“อาจเป็นการปฏิรูปภาษี เช่น ลดการยกเว้นภาษีมากเกินไป ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีฝั่งรายได้ ส่วนในฝั่งรายจ่ายก็ปฏิรูปการจัดการการคลัง เช่น การควบคุมการชำระหนี้จากรัฐวิสาหกิจและการให้กู้ยืม/ค้ำประกันหนี้แก่รัฐวิสาหกิจอย่างเข้มงวดจะเป็นหัวใจสำคัญ” ฮารูมิ ทากุชิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ S&P Global Market Intelligence ให้ความเห็น

ด้านมาร์ตินส์เสริมว่า การปรับปรุงรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ เสริมแกร่งภาคการเงิน ส่งเสริมบรรยากาศการทำธุรกิจ พร้อมกับส่งเสริมการส่งออกเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขปัญหา