‘EEC’ กางแผนดึงลงทุน 5 แสนล้านใน 5 ปี ทำ ‘Fast Track’ ดึงอุตฯเป้าหมายลงทุน

‘EEC’ กางแผนดึงลงทุน 5 แสนล้านใน 5 ปี  ทำ ‘Fast Track’ ดึงอุตฯเป้าหมายลงทุน

"อีอีซี" ตั้งเป้าดึงลงทุนจริง 5 แสนล้านบาท เพิ่มจีดีพีใรพื้นที่ 6.3% กางแผนขับเคลื่อน 5 แผนงาน ดัน Fast Track Lane ทำให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ได้จริงตามเป้าหมาย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2566 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกรรมการและเลขานุการ การประชุมฯ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดจำนวนเงินการลงทุนจริงในพื้นที่ ระหว่างปี2566 - 2570 เพิ่มขึ้น รวม 5 แสนล้านบาท (เฉลี่ย 100,000 ล้านบาทต่อปี) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่

อีอีซี (GPCP EEC) ขยายตัว 6.3% ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้ และคุณภาพชีวิตดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยของประชากรและนักลงทุนทั่วโลก

เพิ่มการลงทุนจริงในอีอีซีให้ได้ 1 แสนล้านบาท 

นายจุฬา กล่าวต่อว่าสำหรับตัวเลขการลงทุนปีละ 1 แสนล้านบาทในพื้นที่อีอีซีนั้นเป็นตัวเลขที่มีการประเมินแล้วว่าอีอีซีจะผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลคำขอส่งเสริมการลงทุนปีละประมาณ 2 แสนล้านบาทในพื้นที่อีอีซีจะมีการลงทุนจริงประมาณ 6 – 7 หมื่นล้านบาท แต่อีอีซีจะเพิ่มการลงทุนให้ได้ปีละ 1 แสนล้านบาท

โดยกลไกที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนจริงคือจะทำมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม เช่น การที่สามารถให้อีอีซีมีการเจรจากับการลงทุนให้สามารถลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา และลดภาษีเงินได้นิติบุคลได้สูงสุด 15 ปี โดยจะต้องมีการเจรจาเป็นรายๆ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์สูงสุดที่จะให้ได้ รวมถึงสามารถขอใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่รัฐบาลจะเพิ่มวงเงินเป็น 1 แสนล้านบาทได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย

นอกจากนี้กพอ. ได้พิจารณาเห็นชอบ และรับทราบการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในเรื่องสำคัญๆ ได้แก่ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 มีแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต
  2. เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
  3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ
  5. เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน

สำหรับแนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยอยู่ระหว่างจัดทำ ร่างประกาศ กพอ. เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการกิจการ มี 5 หลักการที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการภาครัฐ การเจรจาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ การบูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงาน และการติดตามตรวจสอบ ทั้งนี้ ในการเจรจาสิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบกิจการ คณะกรรมการจะ

พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ แผนการลงทุน รวมถึงระยะเวลาเริ่มการลงทุนหรือประกอบกิจการ ความสำคัญของกิจการต่อ Supply chain และ Value chain มูลค่าเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบกิจการ การใช้ทรัพยากรในประเทศ ระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการ การถ่ายทอดความรู้ และการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ

‘EEC’ กางแผนดึงลงทุน 5 แสนล้านใน 5 ปี  ทำ ‘Fast Track’ ดึงอุตฯเป้าหมายลงทุน

นอกจากนี้ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่อีอีซี ที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเพิ่มศักยภาพมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และประชาชน โดยแนวทางบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ ๆ สกพอ. ได้ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน การนิคมอุตสาหกรรม กรมธนารักษ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบริหารจัดการน้ำภาพรวมในพื้นที่อีอีซี อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม กำหนดแนวทางการสูบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำภาครัฐ

การอนุญาตให้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่สร้างเสร็จแล้วในจังหวัดจันทบุรี มาที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยองได้ทันทีหากเกิดกรณีขาดแคลนน้ำ การขยายโครงข่าย ท่อน้ำดิบ ท่อผันน้ำและท่อเชื่อมอย่างบูรณาการ โดยมีการตั้งอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อกำกับดูแลความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง