‘สภาพัฒน์’ แนะเพิ่ม ‘พื้นที่การคลัง’ รับความเสี่ยงศก.โลก-ภูมิรัฐศาสตร์

‘สภาพัฒน์’ แนะเพิ่ม ‘พื้นที่การคลัง’ รับความเสี่ยงศก.โลก-ภูมิรัฐศาสตร์

"สภาพัฒน์"เตือนรัฐบาลใช้นโยบายการคลังเหมาะสม ให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางการคลัง หวั่นวิกฤติภายนอก ภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างตอนโควิดหนี้ต่อจีดีพีพุ่งจาก 44% ทะลุ 60% ห่วงหากเกิดวิกฤติพื้นที่ทางการคลังไทยรองรับได้ไม่เพียงพอ

"พื้นที่ทางการคลัง" หรือ "Fiscal Space" เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ  โดยจะดูความสามารถในการก่อหนี้สาธารณะจากระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันไปจนถึงเพดานหนี้สาธารณะของประเทศหากมีพื้นที่มากก็จะมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจก็จะน้อย ซึ่งประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากจนใกล้กับเพดานหนี้สาธารณะถือว่ามีพื้นที่ทางการคลังเหลือน้อย อาจมีข้อจำกัดในการรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น 

ทั้งนี้ในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 /66 เรื่องของพื้นที่ทางการคลังถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ว่าคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7 – 3.7%  (ค่ากลาง 3.2%) โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% จากการขยายตัวของภาคการส่งออกโดยคาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะขยายตัว 3.8% การขยายตัวในการบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ 3.2% และการลงทุนของภาคเอกชนในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจะอยู่ที่ 2.2% สอดคล้องกับกรอบงบประมาณปี 2567 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.5% จากกรอบงบประมาณปี 2566  

 

อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในปีหน้าที่ขยายตัวได้ประมาณ 3.2% ยังไม่ได้รวมนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่ต้องขอความเห็นข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษีกาก่อนซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของวงเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ซึ่งต้องดูสุดท้ายว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวงเงินในโครงการหรือไม่ จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้าจากการที่รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้ 

‘สภาพัฒน์’ แนะเพิ่ม ‘พื้นที่การคลัง’ รับความเสี่ยงศก.โลก-ภูมิรัฐศาสตร์

ส่วนประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี2566 และในปี 2567 นั้น สศช.ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆและจัดทำข้อเสนอให้ภาครัฐ โดยจำเป็นต้องให้ความสำคัญการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง อย่างหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในช่วงประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยควรให้ความสำคัญต่อที่ในกาดำเนินนโยบายให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

คาดหนี้สาธารณะแตะ 64% หากทำดิจิทัลวอลเล็ต

โดยในปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าระดับหนี้สาธารณะเมื่อจัดทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินแล้วจะขยับมาอยู่ที่ประมาณ 64% ซึ่งหนี้สาธารณะในระดับนี้ต้องบอกว่าอาจจะไม่เพียงพอที่จะรับวิกฤติขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ความขัดแย้งของภูมิรัฐาศาสตร์ที่อาจขยายวงจากตะวันออกกลางได้มากขึ้น  โดยความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานและ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และต้นทุนภาคเกษตรได้ 

“ในเรื่องของ Fiscal space เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะใช้ในการรองรับวิกฤติ เนื่องจากก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะเจอกับวิกฤตโควิด-19 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่แค่ประมาณ 44% เท่านั้นยังมีพื้นที่ทางการคลังที่จะรองรับวิกฤติอยู่ถึง 16% แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิดขึ้นมานั้นจะเห็นว่าต้องมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี ขณะที่ในปัจจุบันหากมีการใช้ พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทพื้นที่ทางการคลังจะเหลือเพียง 6% เท่านั้น ซึ่งหากเกิดวิกฤติก็จะไม่เพียงพอที่จะใช้รองรับได้” นายดนุชา กล่าว 

แนะเร่งขับเคลื่อนส่งออก 

สำหรับประเด็นอื่นๆในการบริหารเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญได้แก่  การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดย  การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนโน้มขยายตัวดี และการสร้างตลาดใหม่ การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก  การใช้ประโยชน์จาก กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลง การค้าเสรี การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การป้องกันและแก้ไข ปัญหากีดกันทางการค้าโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางทางภาษี การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ บริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การยกระดับขีดความสามารถในการ เข็งขันของการผลิตสินค้า และการเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศ

รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ดย การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัว การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติ และออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 - 2566 ลงทุนจริง และเร่งอนุมัติโครงการที่เสนอขอรับ 

 

การส่งเสริมการลงทุน การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้เริ่มประกอบกิจการได้เร็วขึ้น การแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่สำคัญต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ  และการรักษาแรงขับเคลื่อน การขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดย การเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณ รายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผล บังคับใช้ โดยการเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 การเตรียมโครงการให้ มีความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายได้โดยเร็ว เป็นต้น