90 ปี 'หอการค้าไทย' องค์กรธุรกิจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

90 ปี 'หอการค้าไทย' องค์กรธุรกิจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เส้นทาง 90 ปี “หอการค้าไทย” วางบทบาทความเป็นตัวแทนองค์กรเอกชนภาคเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย พร้อมเป็นแรงหนุนรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับขีดแข่งขัน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ

งานสัมมนาสภาหอการค้าแห่งประเทศ ครั้งที่  41  ในระหว่างวันที่  17-19 พ.ย.66  เปิดฉากขึ้นแล้ว โดยจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่ไบเทค บางนา กทม. ซึ่งปีนี้เป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 90 ปี  ด้วยแนวคิด Connect – Competitive – Sustainable ภายใต้ความท้าทายและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ และจัดทำสมุดปกขาวงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 เสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 

ย้อนกลับไป หอการค้า เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย เมื่อปี 2475 อิสรภาพทางความคิดได้เปิดกว้างให้กับคนในทุกระดับ ในช่วงเวลานั้น กลุ่มพ่อค้าคนไทยหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้มีแนวความคิดจะจัดตั้ง “หอการค้า” ขึ้น เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนของนักธุรกิจไทย ในการดูแลและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2476 จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “หอการค้าไทย” ขึ้น โดยมีพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร) เป็นประธานคนแรก มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ตึกในตรอกกัปตันบุช ถนนสี่พระยา 

90 ปี \'หอการค้าไทย\' องค์กรธุรกิจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หอการค้าไทยในระยะเริ่มแรก ผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งการเปลี่ยนสถานที่ทำการ และการสร้างการยอมรับในบทบาทหน้าที่ขององค์กร ท่ามกลางสภาพบ้านเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หอการค้าไทย ค่อย ๆ เติบโตและมีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของหอการค้า จึงได้ตราพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ.2509 ขึ้น เพื่อรับรองการดำเนินงาน ให้เป็นภาคเอกชนหลักองค์กรหนึ่งของประเทศ ซึ่งหอการค้าไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม รักษาสิทธิ์ทางการค้าของคนไทยและทำให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับประโยชน์จากกิจการของตนโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนในอดีต  

90 ปี \'หอการค้าไทย\' องค์กรธุรกิจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2498 ได้มีการตั้ง”สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” เพื่อเป็นศูนย์รวมของพ่อค้าไทยและพ่อค้าต่างประเทศในประเทศไทย ในการส่งเสริมและจัดระเบียบเกี่ยวกับการค้า รวมทั้งให้คำปรึกษาและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าต่าง ๆ ต่อรัฐบาล

90 ปี \'หอการค้าไทย\' องค์กรธุรกิจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  

ผ่านมา 90 ปี หอการค้าไทยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมสะท้อนมุมมองความเห็นต่างๆทั้งข้อเสนอแนะ แนวทางแก้ปัญหาในยามที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจทั้งในปละต่างประเทศ 

สนั่น อังอุบลกุล” ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คนที่ 25 กล่าวกับ”กรุงเทพธุรกิจ”ว่า  90  ปีที่ผ่านมาไทยเจอสถานการณ์เศรษฐกิจมีทั้งวิกฤตและโอกาส ซึ่งหอการค้าฯผ่านวิกฤตและผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ภาคเอกชนก็ช่วยกันประคองและฝ่าฟันกันมาได้ โดยศักยภาพของภาคเอกชนและองค์กรสภาหอการค้าไทยเพราะหอฯมีสมาชิกในหลายอุตสาหกรรม และยังมีหอการค้าประจำจังหวัดทั่วประเทศ  

90 ปี \'หอการค้าไทย\' องค์กรธุรกิจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ปี  2566 ครบรอบ 90 ปีหอการค้าไทยได้ทำหนังสือ Future Crisis เป็นหนึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของไทยมีวิกฤตอะไรบ้าง และหอการค้ามีส่วนเข้าไปช่วยเสนอแนะแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล  เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19  เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งจะชี้ว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร  

โดยข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาของหอการค้าไทยที่เสนอให้กับรัฐบาล หลายเรื่องๆรัฐบาลก็ตอบรับฟังกับข้อเสนอ ข้อแนะนำในสิ่งที่ภาคเอกชนประสบด้วยด้วยเอง ซึ่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้ปฏิเสธทั้งหมด รัฐบาลทุกชุดที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชนก็จะรู้สภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงและความต้องการของภาคเอกชน

90 ปี \'หอการค้าไทย\' องค์กรธุรกิจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 “สนั่น อังอุบลกุล” ได้ฝากถึงรัฐบาลว่า  ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  โดยจะมีผู้สูงอายุในไทยกว่า 20 ล้านคน ซึ่งจะกลายเป็นภาระของรัฐ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายหรือมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ  ขณะเดียวกันไทยยังมีเด็กแรกเกิดน้อยกว่าคนเสียชีวิต ทางหอการค้าฯมองว่าการสร้างแรงจูงใจให้คนหนุ่มสาวมีบุตรมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศมากขึ้น เหมือนสมัยก่อนที่มีคนจีนมาอาศัยและประกอบอาชีพในไทย ปัจจุบันคนจีนก็เป็นคนไทย

ตลอดเส้นทางกว่า 90 ปีที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยืนหยัดทำบทบาทหน้าที่ของภาคเอกชนร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดมา มาทุกยุคทุกสมัย  แม้ข้อเสนอของหอการค้าฯบางอย่างมาไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล แต่อย่างน้อยก็เป็นเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่เป็นแขนขาของรัฐบาลในการเดินหน้าเศรษฐกิจไทย  

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์  มาตรการการค้าระหว่างประเทศรูปแบบต่าง ๆ ที่เน้นและให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การเตรียมพร้อมรับมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงเป็นโจทย์สำคัญ และเป็นความท้าทายของ "หอการค้าไทย" ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคเอกชนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ จะเดินหน้าช่วยประคองเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน