“รัฐบาล” ไร้ทางออกช่วยชาวไร่อ้อย บีบโรงงานน้ำตาลจ่าย 2 บาท/กก.

“รัฐบาล” ไร้ทางออกช่วยชาวไร่อ้อย บีบโรงงานน้ำตาลจ่าย 2 บาท/กก.

“รัฐบาล” หาทางเซฟงบกลาง 8 พันล้านบาท ตั้ง “ยรรยง” ประธานคณะทำงานหารือโรงงาน จ่อดึงส่วนต่างกำไรใส่กองทุนอ้อย ลดการเผาอ้อย 2 บาท/กก. แทนการใช้งบกลาง หลัง ครม.ไม่ให้เก็บจากผู้บริโภค “โรงงาน” ค้านเก็บ 2 บาท เฉือนไป 5 พันล้าน แทบไม่เหลือมาร์จิ้น 

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่อยู่ในระบบตลาดเสรีมานับตั้งแต่มีการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศเมื่อปี 2561 ต้องถูกภาครัฐควบคุมอย่างเข้มงวดหลังจากกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2566

กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศควบคุมราคาน้ำตาลหน้าโรงงานเป็นครั้งแรก โดยใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อกำหนดให้น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท ซึ่งปกติที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ประกาศราคาหน้าโรงงานตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

รวมทั้งได้ออกประกาศควบคุมการขายปลีกราคาน้ำตาลในประเทศ โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 25 บาท และกำหนดมาตรการการควบคุมการส่งออกน้ำตาล ซึ่งการส่งออกน้ำตาลเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการพิจารณาวงเงินชดเชยการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย 8,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยได้เข้าชี้แจงกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และทำให้รัฐบาลยอมตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหาแนวทางดูแลชาวไร่อ้อยให้ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่สูงขึ้น

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ยอมให้มีการปรับราคาน้ำตาลหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ส่วนการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 เห็นว่าไม่ควรเป็นภาระของผู้บริโภคน้ำตาลที่ต้องมาจ่ายส่วนนี้จึงยอมให้ปรับราคาหน้าโรงงานขึ้นเพียง 2 บาท

หารือโรงงานจ่ายเงินเข้ากองทุน 2 บาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องตัดสินใจแนวทางการหาเงินมาใส่ในกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อยซึ่งจะเกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งเดิมนั้นมีข้อเสนอจากสำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ขึ้นราคาน้ำตาลเพิ่มอีก 2 บาท แต่ ครม.ไม่เห็นด้วยในแนวทางนี้ และมีข้อเสนอให้รัฐจัดงบประมาณ 8,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการส่วนนี้

ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่กำกับ สอน.หาแนวทางที่เหมาะสมในการว่าจะนำเงินจากส่วนใดให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคมากขึ้น โดยรัฐบาลมองว่าการปรับราคาน้ำตาลขึ้น 2 บาท เป็นภาระต่อผู้บริโภคมากอยู่แล้ว และหากจะหาเงินมาใส่กองทุนอ้อยเพื่อลดการเผาอ้อยจึงไม่ควรผลักภาระนี้ให้ผู้บริโภค

ดังนั้นจึงตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม โดยมีนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อหารือให้โรงงานผลิตน้ำตาลเป็นผู้รับภาระในส่วนที่จะเอาเงินใส่กองทุนสิ่งแวดล้อม เพราะโรงงานเป็นผู้รับผลผลิตจากชาวไร่มาแปรรูปเป็นน้ำตาล ขณะที่ราคาขายปลีกและส่งออกปรับเพิ่มขึ้นมาก จึงนำไรมาใส่กองทุนอ้อยได้ โดยไม่กระทบผู้บริโภค ซึ่งกำลังหาข้อสรุป

นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้ขึ้นราคาน้ำตาลเพียง 2 บาท ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยเหลือต้นทุนของชาวไร่อ้อยเท่านั้น ส่วนแนวทางการขึ้นราคาอีก 2 บาท เพื่อสมทบเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรัฐบาลไม่เห็นด้วย และได้สั่งการให้ สอน.หาแนวทางที่เหมาะสมมาเสนอ ครม.

ส่วนประเด็นที่จะให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้รับภาระจะเหมาะสมหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ในขณะนี้ ต้องดูข้อเสนอของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย เช่นเดียวกับการใช้งบประมาณเข้ามาเติมในกองทุนอ้อยและน้ำตาล ซึ่งต้องดูข้อเสนอที่เข้ามาก่อน

"น้ำตาลขึ้น 2 บาท ตอนนี้ก็โอเคแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 2 บาทที่จะมาจัดการฝุ่น PM 2.5 จะไม่ให้ขึ้น แต่ให้ไปดูว่าจะทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ผู้บริโภคจะไม่ต้องรับผิดชอบ” นายภูมิธรรม กล่าว

โรงงานน้ำตาลค้านเก็บ 2 บาท

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น เพราะเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างโรงงานเป็นสัดส่วน 30% และชาวไร่อ้อย70% ดังนั้นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องให้โรงงานควักจ่ายจะเป็นการกินส่วนแบ่ง 30% นั้น ซึ่งหากต้องให้โรงงานเป็นผู้จ่าย 2 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาทต่อปี 

ขณะที่ยอดขายน้ำตาลรวมปีละ 2 แสนล้านบาท โรงงานได้ส่วนแบ่ง 6 หมื่นล้านบาท เมื่อต้องจ่ายเงินอุดหนุนอีกคิดเป็น 10% ของส่วนแบ่งยอดขายที่โรงงานจะได้รับ เมื่อเทียบกับราคาขายในประเทศซึ่งก็ไม่ได้มีส่วนแบ่งกำไรมากมาย

“วันนี้หากส่งน้ำตาลข้ามชายแดนไปผู้ขายก็ได้กำไรเกือบ 25% แล้ว เมื่อเทียบกับราคาที่ให้ขายในประเทศ ผู้ขายจะขาดทุนกำไร ถ้ายังให้ชดเชยไปอีกโรงงานก็เหมือนโดน 2 เด้ง”

ขณะนี้ต้นทุนการประกอบการของทุกธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าหลายประเภทปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาน้ำตาลกลับไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของผู้ผลิตฝ่ายเดียว

“ถึงแม้ว่าจะขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศเป็นกิโลกรัมละ 24 บาท ยังถูกกว่าราคาตลาดโลกที่ 27 บาท ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศยังชนะต้นทุนน้ำตาลประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ แล้วมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องช่วยอุ้มราคาน้ำตาลในประเทศขนาดนี้" 

รวมทั้งต่อไปยิ่งราคาน้ำตาลในประเทศราคาถูกยิ่งส่งเสริมให้เกิดการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นจากปปัจจุบัน 2.5 ล้านตันอาจเพิ่มเป็น 3 ล้านตัน อยากให้มองหาทางแก้ปัญหาที่แก้ทีเดียวจบมากกว่านี้

“พาณิชย์” โยน สอน.บริหารน้ำตาลให้ดี

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำตาลหลังขึ้นราคา คาดว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นช่วงแรก แต่อีกไม่นานน้ำตาลจะไม่ขาดตลาด ซึ่งได้หารือกับ สอน.ให้ดูผลผลิตน้ำตาลที่ออกสู่ท้องตลาดไม่ให้กระจุกตัวเกินไป และถ้าบริหารจัดการได้ดีจะทำให้น้ำตาลทรายไม่จะขาดตลาด เพราะไทยผลิตได้ปีละ 10 ล้านตัน โดยส่งออก 8 ล้านตันบริโภคในประเทศเพียง 2 ล้านตัน

สำหรับการขออนุญาตส่งออก ขณะนี้ไม่ได้รควบคุมการส่งออกน้ำตาลโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) แล้ว แต่ให้กลับไปใช้กลไกเดิมก่อนที่จะประกาศให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม คือผู้ที่ส่งออกน้ำตาลตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไปให้อนุญาตจาก สอน. เหมือนเดิม โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์และ สอน.เชื่อมโยงข้อมูลกัน ซึ่งทำให้โรงงานกลับไปใช้ช่องทางเดิมในการขออนุญาตส่งออกน้ำตาลตามปริมาณที่กำหนด