'บีโอไอ' บุกตั้งสำนักงานต่างประเทศ 3 แห่ง เตรียมรับคลื่นลงทุนใหม่

'บีโอไอ' บุกตั้งสำนักงานต่างประเทศ 3 แห่ง เตรียมรับคลื่นลงทุนใหม่

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวตั้งสำนักงานต่างประเทศ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุก ใกล้ชิดนักลงทุนใน 3 ประเทศเป้าหมาย เตรียมรับคลื่นลงทุนใหญ่ช่วงเทรนด์การย้ายฐานผลิตใน 2-3 ปีข้างหน้า

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ว่า บอร์ดบีโอไอ อนุมัติจัดตั้งสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์ เพื่อเดินหน้าแผนการดึงลงทุนเชิงรุก ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ถือเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงการลงทุนมายังประเทศไทย 

โดยซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตสูง มีบริษัทที่ศักยภาพในการลงทุนจำนวนมาก อาทิ กลุ่มปิโตรเคมี และอี-สปอร์ต ซึ่งไทย-ซาอุฯ กำลังอยู่ในระยะการฟื้นความสัมพันธ์ทั้งในมิติเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ทำให้เห็นโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือทั้งสองประเทศมากขึ้น อีกทั้งจะเป็นการตั้งสำนักงานต่างประเทศแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยออฟฟิศนี้จะดูแลพื้นที่ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด

เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นแหล่งรวมของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทชั้นนำระดับโลก นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นเวทีที่มีการจัดงานด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี ทำให้มีผู้บริหารบริษัทชั้นนำระดับโลกเดินทางเข้ามาในประเทศ ดังนั้นการตั้งออฟฟิศในสิงคโปร์จึงเป็นโอกาสดีที่บีโอไอจะได้ใกล้ชิดและพบปะกับบริษัทต่างๆ และชักจูงมาลงทุนเพิ่มเติมที่ประเทศไทย 
  
ขณะที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน จะเป็นออฟฟิศแห่งที่ 4 ในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภาคตะวันตกของจีน ซึ่งจีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย และมีการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง บีโอไอจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องตั้งออฟฟิศเพิ่มเติมในจีน

นอกจากนี้ บอร์ดยังได้อนุมัติการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานบีโอไอ 4 แห่งในจีนและไต้หวัน เพื่อเร่งชักจูงการลงทุนเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ เช่น Semiconductor, Printed Circuit Board (PCB) และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น  

"ขณะนี้มีโครงการลงทุนสำคัญจำนวนมากทั้งจากจีนและไต้หวันที่กำลังพิจารณาเลือกแหล่งลงทุน ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเลือกประเทศไทย ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า จะมีคลื่นการลงทุนใหญ่ตอบรับเทรนด์การย้ายฐานผลิต จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยจะต้องคว้าโอกาสนี้มาให้ได้"  

ทั้งนี้ ปัจจุบันบีโอไอมีสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 16 แห่ง ใน 12 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ 
โตเกียว และโอซากา, ญี่ปุ่น
ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว, จีน 
ไทเป, ไต้หวัน 
โซล, เกาหลีใต้ 
มุมไบ, อินเดีย 
ฮานอย, เวียดนาม
จาการ์ตา, อินโดนีเซีย 
นิวยอร์ก และลอสแองเจิลลิส, สหรัฐอเมริกา 
แฟรงก์เฟิร์ต, เยอรมนี
สตอกโฮล์ม, สวีเดน 
ปารีส, ฝรั่งเศส 
ซิดนีย์, ออสเตรเลีย

\'บีโอไอ\' บุกตั้งสำนักงานต่างประเทศ 3 แห่ง เตรียมรับคลื่นลงทุนใหม่