‘เศรษฐกิจดิจิทัลไทย’ ส่งสัญญาณบวก ปี 66 เม็ดเงินสะพัด 3.6 หมื่นล้านดอลล์

‘เศรษฐกิจดิจิทัลไทย’ ส่งสัญญาณบวก ปี 66 เม็ดเงินสะพัด 3.6 หมื่นล้านดอลล์

“กูเกิล”ร่วม “เทมาเส็ก - เบนแอนด์คอมพานี”เปิดรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2566 ระบุปีนี้มูลค่าแตะ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ตัวจักรขับเคลื่อนหลักยังคงเป็น “อีคอมเมิร์ซ” คาดการณ์ปี 2568 ทะยานไปถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์

รายงาน “e-Conomy SEA 2023” ฉบับล่าสุดเผยว่า ปี 2566 เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย(GMV) จะมีมูลค่าราว 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ เติบโต 16% จากปีที่ผ่านมา โดยตลาดไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย

คาดว่า ปี 2568 มูลค่าจะทะยานไปแตะ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะมีมูลค่าประมาณ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2573 

โดยอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 

“แม้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจมหภาค แต่เศรษฐกิจดิจิทัลไทยยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวอย่างน่าทึ่ง”

ส่วนในภาพรวมของทั้งภูมิภาคคาดว่าปีนี้มูลค่ารวมจะสูงถึง 2.18 แสนล้านดอลลาร์ เติบโต 11% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคจะแตะ 1 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยอัตราการเติบโตที่เร็วกว่ามูลค่าสินค้ารวมถึง 1.7 เท่า

'อีคอมเมิร์ซ’ แรงขับเคลื่อนหลัก

สำหรับข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจจากรายงานของปีนี้ แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย เผยว่า อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยคิดเป็น 61% ของมูลค่าสินค้ารวมในปี 2566

จากข้อมูลพบว่า ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 10% จากปี 2565 โดยมีมูลค่าสินค้ารวม 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 16% แม้ว่าผู้ประกอบการจะลดการจัดโปรโมชั่นและปรับส่วนลดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร

คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะแตะ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2573

‘ท่องเที่ยว’ ส่งสัญญาณบวก

อีกประเด็นที่น่าสนใจ การเติบโตของไทยขับเคลื่อนโดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

รายงานชี้ว่า การท่องเที่ยวออนไลน์ของไทยเติบโตได้เร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโต 85% จากปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าสินค้ารวมแตะ 5 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์โดยรวมยังคงไม่กลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่สูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 เนื่องจากการท่องเที่ยวขาเข้าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเดิม

คาดว่าการประกาศใช้นโยบายใหม่ของรัฐบาล เช่น การยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และโครงการอื่นๆ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะช่วยปูทางไปสู่การฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2567

‘เชื่อมั่น’ กุญแจปลดล็อก ‘นักลงทุน’

กูเกิล รายงานว่า เพื่อดึงดูดการลงทุน ธุรกิจจำเป็นต้องมีแนวทางในการทำกำไรที่ชัดเจน และพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทมีทางออกสำหรับธุรกิจที่ทำได้จริง

ข้อมูลระบุว่า การลงทุนจากภาคเอกชนในภูมิภาคลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี หลังจากที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกเรื่องของต้นทุนของเงินลงทุนและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวงจรการระดมทุน

แนวโน้มที่ถดถอยนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคฯ รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นเพื่อให้สามารถหลุดจากภาวะการลงทุนที่ยากลำบากนี้ ธุรกิจต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไร แสดงให้นักลงทุนเห็นถึงโมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล รวมถึงแผนทางออกสำหรับธุรกิจที่สามารถทำได้จริง

ไทยยืนหนึ่ง ‘วิดีโอ-เพลง’ ออนดีมานด์

ขณะที่ สื่อออนไลน์ ซึ่งรวมถึงบริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ และเกม นับว่าไทยครองตลาดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งที่เรียกเก็บค่าสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และคาดว่าไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดสื่อออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในช่วงปี 2566-2573

คาดว่าธุรกิจสื่อออนไลน์ของไทยจะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขยายตัวขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา และเมื่อถึงปี 2568 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 16% มูลค่าสินค้ารวม 7 พันล้านดอลลาร์ จากนั้นเพิ่มไปแตะ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2573

ส่วน การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ แม้ว่าจะมีการยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว แต่พฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ยังคงเหมือนเดิมหลังการระบาดใหญ่ โดยรวมแล้วคาดว่าธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์จะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2565

 ขยายโอกาส ปูทางสู่ทศวรรษใหม่

ด้าน บริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital financial services: DFS) มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2566 บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลในไทยมีการเติบโตเร็วที่สุดถึง 65% ด้วยยอดสินเชื่อสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งยังเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในภูมิภาคด้วย

ขณะที่ บริการด้านความมั่งคั่งทางดิจิทัล คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเร็วที่สุดถึง 39% และจะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 และจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคในปี 2573

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง (High-value users: HVUs) ยังคงช่วยขับเคลื่อนหน่วยเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างในไทยมีการใช้จ่ายสูงกว่าผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง (Non-HVUs) โดยเฉลี่ยถึง 7 เท่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในส่วนของเกม การขนส่ง และการท่องเที่ยว คาดว่า HVUs ในไทยจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 64% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า สูงที่สุดในภูมิภาค 

แต่ทั้งนี้โอกาสในการเติบโตของไทยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลมากขึ้น แจ็คกี้บอกว่า การให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างด้านการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และการขจัดอุปสรรคต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้มากขึ้นจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพเพื่อการเติบโตต่อไปในทศวรรษแห่งดิจิทัล