เปิดแผนวิกฤติพลังงาน 'เศรษฐา' สั่งรับมือสงครามขยายวง

เปิดแผนวิกฤติพลังงาน 'เศรษฐา' สั่งรับมือสงครามขยายวง

นายกฯ ถก สมช.ห่วงสงครามในอิสราเอลขยายวง สู่ระดับภูมิภาค หลังมีการโจมตีทางไซเบอร์และใช้โดรนมากขึ้น หารือหน่วยงานเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์ “พลังงาน” เตรียมชงแผนพลังงานช่วงวิกฤติ รับมือสถานการณ์รุนแรงขึ้น ยืนยันดูแลราคาพลังงานที่เหมาะสมผ่านกลไล “กองทุนน้ำมัน-ภาษี”

สถานการณ์สงครามในอิสราเอลยังมีต่อเนื่อง หลังจากที่กลุ่มฮามาสเริ่มโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 โดยรัฐบาลไทยได้ทยอยอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล รวมทั้งกำหนดมาตรการจูงใจให้คนไทยที่ยังไม่แจ้งความประสงค์กลับไทยเพื่อให้เดินทางกลับ ในขณะที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และคู่ขัดแย้งได้ขยายวงกว้างขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2566 ซึ่งที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงภายใน รวมถึงประเมินสถานการณ์ความมั่นคงของภูมิภาค

นายเศรษฐา กล่าวว่า การประชุม สมช.วันนี้มีการหารือข้อมูลสถานการณ์ของสงครามในอิสลาเอลโดยละเอียด ซึ่งข้อมูลขณะนี้พบว่าสงครามมีแนวโน้มจะขยายตัวไปในระดับภูมิภาค โดยไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย หรือในประเทศใกล้เคียงอย่างจอร์แดนและเลบานอนเท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีการไปพูดคุยกันใน 10 ประเทศ แล้วที่ต้องเตรียมพร้อมเรื่องของการอพยพ ซึ่งไทยต้องประเมินอีกที เพราะตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่สงครามจะขยายวงไปเพราะในขณะนี้เริ่มมีการทำสงครามไซเบอร์ และการใช้โดรนเข้ามาเกี่ยวข้อง

“เรามีความเป็นห่วงว่าสงครามจะขยายไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งก็ต้องดูว่าการอพยพแรงงานไทยในประเทศใกล้เคียงนั้นจำเป็นหรือไม่ ส่วนแรงงานไทยในอิสราเอลนั้นหากมีความจำเป็นที่จะกลับไทยก็ขอให้มีการแจ้งกลับมาเพื่อที่จะมีการอพยพได้มากขึ้น" นายเศรษฐา กล่าว

รวมทั้งแรงงานไทยที่ไม่ได้ไปตามช่องทางปกติก็ต้องมีการแจ้งสถานการณ์ความรุนแรงของเหตุการณ์เพื่อให้เขาตัดสินใจอพยพออกมา โดยรัฐบาลจะสื่อสารตรงไปยังแรงงานโดยตรง โดยต้องคุยกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน โดยส่งข้อความตรงจากรัฐบาลไปแจ้ง

ส่วนการช่วยตัวประกันชาวไทยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และขอให้ทุกหน่วยงานที่ทำงานอยู่ตรงนี้เชื่อมต่อข้อมูลกันเพื่อให้ได้ผลโดยเร็วที่สุด

สำหรับผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรนั้นได้มีการหารือกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับเมื่อสงครามในอิสราเอลขยายวงออกไป 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 ได้มีการหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในเรื่องของสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอแผนเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงานให้รับทราบ เพราะว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นเพราะหากสงครามจะขยายวงกว้างออกไปก็จะมีผลกระทบในส่วนนี้มากขึ้นด้วย

“แม้ว่ากลุ่มประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อมีการขยายวงกว้างของสงครามออกไปนั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจะมีน้อย แต่ต้องระมัดระวัง ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่าคือความรุนแรงที่อาจจะกระทบกับประชาชนไทยที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ซึ่งต้องมีการเตรียมการรับมือต่อไป ซึ่งต้องมีการทำแผนและการเริ่มแจ้งเตือนเหมือนกัน” นายเศรษฐา กล่าว

“พลังงาน” มั่นใจรับมือสงครามได้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ราคาพลังงานไว้ทุกสถานการณ์ ซึ่งเชื่อว่าสงครามครั้งนี้แม้จะยืดเยื้อแต่มีแนวโน้มไม่บานปลาย โดยมีการเจรจาและมีสัญญาณที่ดีของการปล่อยตัวประกัน

อย่างไรก็ตามช่วง 5 วันที่ผ่านมา ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคาพลังงานบ้างในกรอบไม่น่ากังวลมากนัก แม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะยังไม่พุ่งสูงบขึ้นเหมือนช่วงที่เกิสงครามในช่วงแรกในลักษณะ War premium หรือ ราคาพรีเมียมที่เกิดจากสงคราม ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันกระโดดเป็นเวลาในช่วงสั้น ๆ แต่กระทรวงพลังงานก็ไม่ได้ไว้วางใจ และยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ราคาน้ำมันนั้นยังคงมีความผันผวนได้ตลอดเวลา

เตรียม2แผนดูแลราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ราคาพลังงาน และให้เตรียมรับมือในทุกสถานการณ์ ดังนั้น แม้ราคาจะขยับขึ้นมาบ้าง กระทรวงพลังงานก็จะต้องเตรียมแผนรับมือไว้รอบด้วย แบ่งเป็น

1.ความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางสัดส่วน 57% และนำเข้า LNG จากต่างประเทศสัดส่วน 33% จากหลากหลายแหล่ง โดยกระทรวงพลังงานเตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน ซึ่งปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 70 วัน โดยเป็นปริมาณที่อยู่ในประเทศ 45 วัน และอยู่ระหว่างการเดินเรืออีก 25 วัน

ส่วนปริมาณการสำรองน้ำมันดิบปัจจุบันมีปริมาณ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้ 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

2.การดูแลด้านราคาพลังงาน โดยมีแผนรับมือราคาพลังงานเพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน โดยช่วงนี้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้นมากนักจะดูแลได้ระดับหนึ่ง พร้อมกับประสานกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อร่วมดูแลราคาพลังงาน

“มีกองทุนน้ำมันฯ ช่วยดูแลราคาพลังงานเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องดูว่าจะดูแลได้ระดับไหน" 

สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 29 ต.ค.2566 ติดลบ 74,292 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 28,938 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 45,354 ล้านบาท”

นายกฯยืนยันไทยยึดหลักเป็นกลาง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมรับประทานอาหารค่ำในงาน Foreign Industrial Club Gala Dinner ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน” (Reformation of Thai Economy Amidst Polycrisis) 

นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในงานตอนหนึ่งว่า ในการรับมือกับความขัดแย้งระหว่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก รัฐบาลยังคงยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแสวงหาสันติภาพและการไม่แบ่งแยก

“ยืนยันว่าไทยจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกสมาชิกในประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่สําคัญของไทยในทุกภูมิภาค และเชื่อว่านโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและไม่แบ่งแยกของไทย จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ในอนาคต”

คลัง-สศช.เร่งประเมินผลกระทบ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจติดตามและประเมินผลกระทบจากสงครามในอิสราเอล โดยในเบื้องต้นมีหน่วยงานประเมิน ดังนี้

1.กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย รวมถึงผลกระทบต่อราคาน้ำมัน โดยตอนนี้ข้อห่วงใยมี 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจะยืดเยื้อหรือไม่ ประเด็นปัญหาดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นปัญหาภูมิภาคหรือไม่ และประเด็นเสถียรภาพราคาพลังงานโลก

2.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบสงครามต่อเศรษฐกิจไทย โดยจะเป็นปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมจากปัจจัยอื่นที่ สศช.ประมาณการความเสี่ยงของปี 2566

ทั้งนี้ เบื้องต้น สศช.มองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและปุ๋ย ราคาสูงขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาดูในสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส อยู่ที่สงครามจะขยายวงออกไปหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่มีการขยายวงจะมีประเทศที่เข้าร่วมกับทั้ง 2 ฝ่ายมากขนาดไหน เพราะหากสงครามขยายไปมากจะกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมาก แต่หากไม่ขยายวงมากผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะไม่มาก