อีอีซี สิ้นแล้งน้ำเต็มเขื่อน เล็งปั้นกองทุนบริหารจัดการ

อีอีซี สิ้นแล้งน้ำเต็มเขื่อน  เล็งปั้นกองทุนบริหารจัดการ

สทนช. หมดห่วงแล้งในอีอีซี หลังร่องมรสุมท้ายฤดูฝนดันน้ำลงเขื่อนเกิน 80%ของความจุ คาดเริ่มต้นฤดูแล้งที่ 1 พ.ย. นี้ 1,060 ล้านลบ.ม พร้อมแนะตั้งกองทุน เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำ เป็นค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการในพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายมีความกังวลถึงปริมาณน้ำที่จะไม่พอใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อย่างไรก็ตามในเดือน ก.ย- กลางเดือนต.ค. พบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยหลายครั้ง ทำให้ อ่างเก็บน้ำต่างๆในภาคตะวันออกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในปริมาณที่น่าพอใจและคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในอีอีซี

 

อีอีซี สิ้นแล้งน้ำเต็มเขื่อน  เล็งปั้นกองทุนบริหารจัดการ

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้ตั้งคณะทำงานบูรณาการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่อีอีซี ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในประสานการทำงานของ 2 บริษัทที่ให้บริการจัดส่งน้ำระบบท่อ คือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ และ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด จะส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกเป็นไปได้โดยสะดวกมากขึ้น

 

 ส่วน สถานการณ์น้ำปัจจุบัน มีปริมาณ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) น้อยกว่าปริมาณน้ำ ปี 2565 ประมาณ 770 ล้านลบ.ม.   เมื่อ เปรียบเทียบ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำพื้นที่ EEC ณ วันที่ 8 ต.ค. 2566  พบว่าภาพรวมปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2565 แต่มากกว่าปี 2562 โดยมีอ่างเก็บน้ำ ที่เกิน 80 %ของความจุอ่าง คือ อ่างเก็บน้ำประแสร์ 84% และอ่างเก็บน้ำ คลองระโอก 104.6%

 

อีอีซี สิ้นแล้งน้ำเต็มเขื่อน  เล็งปั้นกองทุนบริหารจัดการ

คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูแล้ง  ภาคตะวันออกจะมีปริมาณน้ำรวม 1,060 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 1,374.00 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 314 ล้านลบ.ม.

 

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยง ทุกฝ่ายยังต้อง รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำโครงข่ายน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในทุกกิจกรรม  

นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำในเขต EEC ทำหน้าที่เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขต EEC รวมถึงค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในการบริหารจัดการน้ำ เช่น การผันน้ำระหว่างแหล่งเก็บกักน้ำ รวมถึงการจ่ายเงินชดเชย ในกรณีมีเหตุจำเป็น เช่น การชดเชยเกษตรกร เป็นต้น

สำหรับความก้าวหน้าของการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC 38 โครงการ  วงเงิน 53,698 ล้านบาท สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 872.66 ล้านลบ.ม. 

 ดำเนินการแล้วเสร็จ 15 โครงการ ได้น้ำเพิ่มขึ้น 239 ล้านลบ.ม. เช่น สระทับมา จังหวัดระยอง เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำคลองกระแส จังหวัดชลบุรี ระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 1 จังหวัดระยอง เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

 อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 โครงการ คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2569 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 79 ล้านลบ.ม.  เช่น อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว จ.จันทบุรี ปรับปรุงขยายระบบประปา การประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน และอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง เป็นต้น

ต้องขับเคลื่อน 16 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 ได้น้ำเพิ่มขึ้น 555 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น  กลุ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง และ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี จำนวน 7 โครงการ ได้น้ำเพิ่ม 195 ล้านลบ.ม. เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ระบบสูบกลับคลองสะพาน - อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 จังหวัดระยอง เป็นต้น

กลุ่มโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 2 โครงการ ได้น้ำเพิ่ม 66 ล้านลูกลบ.ม.

  โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนใน อีอีซี 7 โครงการ ได้น้ำเพิ่ม 294 ล้านลบ.ม. ที่ให้ความสำคัญกับการเกษตร อุปโภคบริโภค และยังเป็นน้ำต้นทุนที่เพิ่มความสามารถการผลักดันน้ำเค็ม