“ภูมิธรรม” พร้อมดันเมกะโปรเจกต์ EEC “ไฮสปีด-อู่ตะเภา” สำเร็จใน 4 ปี

“ภูมิธรรม” พร้อมดันเมกะโปรเจกต์ EEC “ไฮสปีด-อู่ตะเภา” สำเร็จใน 4 ปี

บอร์ดกพอ. ชุดใหม่ พร้อมเคลื่อนแผนโครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซีให้สำเร็จใน 4 ปี เร่งเจรจาสัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบินและมอบ NTP สนามบินอู่ตะเภาภายในม.ค.67 พร้อมหนุนสิทธิประโยชน์สูงสุด ดึงเม็ดเงินลงทุนจริง 5 ปี 5 แสนล้านบาท

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งแรกของรัฐบาล ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (ต.ค.66 - ก.ย.67) และเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์, ดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี), BCG และบริการ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ให้มีการเร่งเจรจาข้อสัญญาให้ได้ข้อยุติและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการฯ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนม.ค.2567 

รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งกองทัพเรือเตรียมประกาศประกวดราคาทางวิ่งที่ 2 (Runway 2) ในเดือนพ.ย.2566 ขณะเดียวกันคาดว่าจะส่งมอบหนังสือให้เริ่มต้นงาน (NTP) กับเอกชนเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (Terminal) ได้ภายใน 99 วัน

“รัฐบาลคาดหวังว่าโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีจะต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก่อนรัฐบาลจะหมดวาระใน 4 ปี โดยจะต้องเห็นทิศทางที่เป็นรูปเป็นร่างและแนวโนบายที่ทุกหน่วยงานพร้อมทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จจะสามารถดึงการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ”

นายจุฬา สุขภานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกานโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การเจรจาเพื่อแก้ไขข้อสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เกิดขึ้นเนื่องจากสัญญาเดิมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่ได้ระบุถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไรและหาข้อสรุปร่วมกับเอกชนคู่สัญญาให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากสถานีรถไฟมีส่วนที่จะเชื่อมต่อกับทางวิ่งของสนามบินอู่ตะเภา ทั้งนี้ไฮสปีดเทรนจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยส่วนโครงสร้างพื้นฐานจะเสร็จไม่เกิน 3 ปี ดังนั้นถ้าเริ่มนับหนึ่งได้ปีนี้ก็จะได้เห็นในรัฐบาลนี้ 

อีอีซีให้สิทธิประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ กพอ.มีแผนการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน ตามกรอบพรบ.อีอีซี ในการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสูงสุด เพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยจะพิจารณารายโครงการตามเม็ดเงินลงทุน รวมถึงผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งการจ้างงานและการใช้ซัพพลายเชนในประเทศ 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด รวมไปถึงการอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาว (EEC Long term VISA) เป็นกรณีพิเศษ สูงสุด 10 ปี รวมทั้งใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ อาทิ ผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ โดยจะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค.2567

“โดยใน 5 ปีข้างหน้าตั้งแต่ปี 2566-2570 อีอีซีตั้งเป้าให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจริงไม่รวมโครงสร้างพื้นฐาน 5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี จากแนวโน้มการขยายลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ดิจิทัล สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์”​  

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมกพอ.เตรียมจัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566 – 2570) ซึ่งจะเป็นกรอบดำเนินงานหลักของอีอีซี บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแนวทางพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่

1. ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต

2. เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม

4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ

5. เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน