อีอีซีทุ่มแพคเกจลงทุน ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี หวังดึงเทสล่าตั้งโรงงาน

อีอีซีทุ่มแพคเกจลงทุน ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี หวังดึงเทสล่าตั้งโรงงาน

อีอีซี พร้อมเจรจา “เทสล่า” ทุ่มสิทธิประโยชน์ลงทุนสูงสุด ยกเว้นภาษี 15 ปี หวังดึงตั้งโรงงาน หนุนดันไทยขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภูมิภาค

ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เร่งเดินหน้าชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการเดินทางเยือนสหรัฐในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ได้พบกับอีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัทเทสลาและคณะทำงาน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองและหารือกัน โดยรัฐบาลแสดงจุดยืดชัดว่าพร้อมให้การดูแลและสนับสนุนสิทธิประโยชน์การลงทุนตามกรอบกฎหมาย

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ว่า ได้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ สอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ

โดยอีอีซีมีแผนการพัฒนาให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนภายใต้กรอบ พรบ.อีอีซี ในการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดเพิ่มเติมจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยพิจารณารายโครงการตามเม็ดเงินลงทุน รวมถึงนักลงทุนรายใหม่ที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมตามเข้ามาลงทุนในประเทศ 

"สำหรับการเจรจากับเทสลา อีอีซีได้เสนอแพคเกจลงทุนสูงสุดให้นายกฯ พิจารณา อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) สูงสุด 15 ปี รวมทั้งการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน การให้วีซ่า ระยะยาวในการพำนักในไทยสูงสุด 10 ปี ทั้งในผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ผู้บริหารรวมทั้งผู้ติดตาม และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Flat rate) เหลือ 17% ขณะที่การคิดค่าเช่าพื้นที่สร้างโรงงานสูงสุด 99 ปี โดยคาดว่านายกฯ จะนำแพคเกจลงทุนดังกล่าวหารือเจรจากับเทสลา ในช่วงระหว่างที่มีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุม APEC ที่สหรัฐในเดือนพ.ย."

อย่างไรก็ตาม รายงานบทวิเคราะห์ของบริษัทเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ระบุถึงสาเหตุที่เทสลายังไม่ต้องโรงงานผลิตรถอีวีในไทย เพราะตลาดรถยนต์ไทยมีขนาดเล็กและกำลังซื้อน้อยกว่าจีนและสหรัฐฯ โดยยอดขายรถยนต์นั่งอีวี ในไทยมีเพียง 3-4 แสนคันต่อปี ขณะที่จีนขายได้ 20 ล้านคันต่อปี ทำให้เทสลามียอดขายในจีนอยู่ประมาณ 4 แสนคันต่อปี และแม้ว่าไทยจะมีมาตรการรัฐที่อุดหนุนอีก 150,000 บาท เทสลาก็ยังมีราคาสูงกว่าระดับราคารถที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ รวมทั้งยังมีราคสูงกว่าอีวีจีนในไทย

และการนำเข้ามีแนวโน้มถูกกว่าผลิตในไทย เนื่องจากเทสลาไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรีจากประเทศจีนอยู่แล้ว รวมถึงนโยบายอุตสาหกรรมประเทศอื่นดึงดูดการลงทุนมากกว่าไทย จึงทำให้ปัจจุบันเทสลาเลือกจะนำเข้ารถยนต์จากจีนแทนการมาตั้งฐานการผลิตในไทย

แม้ไทยจะมีมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่มีเงื่อนไขต้องผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565 – 2566 จึงทำให้เทสลาไม่ได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวและไม่ได้ส่วนลดทางภาษีพร้อมกับเงินอุดหนุนเหมือนค่ายรถจีน และยังไม่มีแผนสำหรับการตั้งฐานผลิตที่ไทยแม้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยจะเติบโตได้ดีในช่วงทีผ่านมาก็ตาม

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและความต้องการ EV ในประเทศไทยประกอบด้วย

  • การอุดหนุนเงินสูงสุดถึง 150,000 บาท สำหรับรถ EV ที่ผลิตลงทุนในประเทศ
  • การยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงถึง 13 ปีสำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย
  • การยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในระยะเริ่มต้น
  • การลดอัตราภาษีสรรพสามิต
  • การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ

การได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการส่งออกผ่านกรอบข้อตกลง FTAs ซึ่งทำให้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจากไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกเสียภาษีใกล้เคียงศูนย์

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การเร่งขยายโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายติดติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2573