ธ.ก.ส.ลุยพักหนี้เกษตรกร 2 ล้านราย ทั่วประเทศ

ธ.ก.ส. เดินหน้ามาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศสำหรับลูกค้าที่มีเงินต้นคงเหลือเป็นหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท พร้อมจัดมาตรการฟื้นฟูทักษะประกอบอาชีพ เตรียมตลาดรองรับผลผลิต เพื่อสร้างรายได้ และลดภาระหนี้ได้ตามเป้าหมาย

มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร และบุคคล ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 3 แสนบาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ หนี้ค้างชำระ รวมถึงหนี้ NPL 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ระบุ หลังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ให้ลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร เข้าร่วมมาตรการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย ล่าสุดมีเกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการพักหนี้ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารแล้วเกือบ 4 แสนราย จากจำนวนลูกหนี้ที่มีสิทธิร่วมมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้รวม 283,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ ธ.ก.ส. เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น และให้ความสำคัญกับลูกหนี้เกษตรกรที่เป็นหนี้เสียที่มีอยู่ราว 6 แสนราย ด้วยการทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ไปหาลูกหนี้เหล่านี้ ให้มาเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และทำให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้โดยเร็ว

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฉัตรชัย ศิริไล ระบุ สำหรับกลุ่มหนี้เสียขณะนี้มีอยู่ 6 แสนรายคิดเป็นมูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้ขาดการติดต่อจากธนาคารไปนานแล้ว ทำให้การเข้าร่วมมาตรการน้อยราย ซึ่งธ.ก.ส.จะใช้เชิงรุกโดยส่งข้อความสั้น หรือ SMS ไปยังมือถือ เพื่อแจ้งสิทธิให้ทราบ และให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมลูกหนี้ เพื่อให้รู้ว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่จะได้ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้ รวมถึงฟื้นฟูอาชีพได้ด้วย

ด้านเกษตรกร จ.เชียงใหม่ บอกว่า รายได้จากการทำการเกษตรไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีหนี้กับ ธ.ก.ส. 280,000 บาท โครงการพักชำระหนี้ครั้งนี้ช่วยให้เกษตรกรที่เดือดร้อนสามารถตั้งหลักได้ หลังจากการพักหนี้เชื่อว่าจะสามารถปลดหนี้ได้

สำหรับระยะเวลาของมาตรการพักชำระหนี้ เกษตรกรสามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 ได้รับสิทธิพักชำระหนี้ต้นเงิน และลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึง 30 ก.ย.2569 โดยมีการสอบทานศักยภาพ และความสามารถในการชำระหนี้ทุกปี

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์