คลังลั่นแจกเงินดิจิทัลไม่ตัดสิทธิ ‘คนรวย’

ยืนยันกระแสข่าวเกี่ยวกับการตัดสิทธิคนที่มีรายได้สูงหรือการเตรียมวงเงินไว้เพียง 4 แสนล้าน สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไม่ใช่ความจริง เพราะขณะนี้โครงการยังไม่ได้สรุปรายละเอียดออกมา

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันกระแสข่าวเกี่ยวกับการตัดสิทธิคนที่มีรายได้สูงหรือการเตรียมวงเงินไว้เพียง 4 แสนล้าน สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทไม่ใช่ความจริง เพราะขณะนี้โครงการยังไม่ได้สรุปรายละเอียดออกมา โดยคณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ คาดจะได้ข้อสรุปโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นในส่วนที่มีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งในส่วนการพิจารณาเงื่อนไขการแจกเงิน เราไม่ได้ดูเรื่องความรวยหรือจน เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนยากจน แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ มุมมองการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้สูงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่หรือเพียงเอาเงินไปออมแทน

สำหรับกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกออกมาเตือนรัฐบาลทั่วโลกให้พยายามรักษาวินัยการเงินการคลังท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ยืนยันว่ารัฐบาลจะรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตสูงกว่าศักยภาพ ปัญหาเศรษฐกิจในหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เงินประชาชนขาดมือ จึงต้องเติมเงินเข้าไปให้ เพื่อให้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายรัฐ

อย่างไรก็ดี ในแง่วงเงินที่จะนำมาใช้นั้นจะไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาทแน่นอน เพราะคนที่มีอายุเกิน 16 ปี มีแค่ 5.48 ล้านคน ดังนั้น จะมีกรอบเต็มที่แค่ 5.48 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมเงื่อนไขที่ดูความจำเป็นของกลุ่มคนและคนที่ไม่มาร่วมโครงการ

สำหรับเงื่อนไขในการสมัครร่วมโครงการเบื้องต้นนั้น ยืนยันไม่ต้องมีการลงทะเบียน แต่ต้องทำการยืนยันตัวตนด้วยระบบเควายซี จากนั้นกดรับสิทธิ จะได้เข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ สำหรับผู้ที่เคยร่วมโครงการรัฐที่ผ่านมาสี่สิบล้านคนที่ได้เควายซีไปแล้ว ก็ไม่ต้องมายืนยันตัวตน ดังนั้น จึงเหลือเพียงสิบล้านคนเท่านั้นที่จะต้องมายืนยันตัวตน

"จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" ยันซูเปอร์แอป เสร็จทันแจกเงินวอลเล็ต 10,000 บาท เริ่มทยอยเปิดฟังก์ชันใช้ก่อนตามความจำเป็น ชี้คนที่เคยยืนยันตัวตนในระบบเก่า ไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาซูเปอร์แอป สำหรับใช้ในการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการพัฒนาซูเปอร์แอป ซึ่งผู้พัฒนายืนยันว่าจะทันแจกเงินในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2567 อย่างแน่นอน 

ทั้งนี้การเปิดการใช้งานนั้นอาจจะยังไม่ได้เปิดทุกฟังก์ชันพร้อมกันทั้งหมด แต่จะทยอยเปิดตามฟังก์ชันที่เราต้องการใช้งานในเวลาที่เหมาะสมก่อน

อย่างไรก็ตามการลงทะเบียนซูเปอร์แอปในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะเปิดเฉพาะฟังก์ชันที่จำเป็นก่อน เนื่องจากกระบวนการ KYC หรือการยืนยันตัวตน ไม่จำเป็นต้องทำทั้ง 100% เพราะผู้ที่เคยยืนยันตัวตนผ่านระบบเก่าในอดีตไปแล้วประมาณ 40 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องมายืนยันตัวตนใหม่ 

แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนจำเป็นจะต้องลงทะเบียนเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์