ทำไม FDR ไม่แจกเงินแม้ในยุค The Great Depression?!

“Let me assert my firm belief that the only thing we have to fear is fear itself!”วาทะกึกก้องทรงพลัง เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของคนอเมริกัน ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1933 ของ Franklin D. Roosevelt (FDR)

 มีความหมายว่า       “สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวคือความกลัวที่มีในใจเรา หากใจเราไม่มีความกลัวแล้ว ก็ไม่มีปัญหาใดในโลกนี้ที่น่ากลัวเลย”

FDR ประธานาธิบดีผู้สร้างตำนานของประเทศสหรัฐอเมริกาและของโลก ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในยุคที่สหรัฐอเมริกาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวลงของสถาบันการเงินจำนวนมาก ประชากรประมาณ 11 ล้านคน คิดเป็น 25% ของแรงงานตกงาน

ราคาสินค้าและบริการต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อาทิ Coke และ Hamburger มีราคาเพียงแค่ 5 cent เท่านั้น ซึ่งแม้ว่าราคาสินค้าและบริการจะต่ำมาก แต่ผู้คนก็ไม่มีกำลังซื้อ ประชาชนในยุคนั้นจึงขาดแคลนทั้งอาหาร เป็นคนไร้บ้าน และหมดสิ้นความหวังในชีวิต

FDR แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงด้วยการใช้มาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ รู้จักกันทั่วไปในชื่อ New Deal ที่ประกอบไปด้วยหลายโครงการย่อย อาทิ WPA และ CCC ซึ่งจัดหางานให้ประชาชนทำในหน่วยงานสาธารณะ

เช่น การเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุด การก่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล การสร้างถนนและสะพาน การก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์แห่งใหม่ทั่วประเทศ การสร้างเขื่อนฮูเวอร์ (Hoover Dam)

สำหรับ Federal One เป็นโครงการของรัฐในการแสวงหาศิลปิน นักดนตรี นักแสดง และนักเขียน เพื่อให้ใช้ศิลปะสร้างความบันเทิงและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับประชาชนที่ต้องเผชิญกับความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ

ศิลปินได้มีการจัดทำโปสเตอร์ วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังของอุทยานแห่งชาติ และฉากของอเมริกาในอาคารสาธารณะ การสร้างอนุสาวรีย์ รวมถึงการจัดทำแผ่นภาพแนะนำรัฐ เป็นต้น

โครงการเหล่านี้นอกจากเป็นการช่วยผู้คนให้มีรายได้ ยังเป็นการเพิ่มทักษะ ศักยภาพ ความสามารถให้ประชาชน อีกทั้งเป็นการวางรากฐานศิลปกรรม ประติมากรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประเทศ

จากมาตรการทางการคลังของ FDR คนหลายล้านคนเริ่มมีงานทำ ด้วยรายได้ที่มั่นคง จึงมีการจับจ่ายใช้สอย และเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวตามลำดับ จากวิสัยทัศน์และความสามารถในการพลิกฟื้นแผ่นดินอเมริกาให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง FDR ได้รับฉันทามติจากประชาชนให้เข้ามาเป็นผู้นำประเทศถึง 4 สมัยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ทำไม FDR ไม่แจกเงินแม้ในยุค The Great Depression?!

จะเห็นได้ว่า แม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องได้รับการกระตุ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความตกต่ำในทุกด้าน FDR กลับไม่มีนโยบายแจกเงินเพื่อให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยแบบง่ายๆ

ในทางตรงกันข้าม การที่ประชาชนจะได้เงินมาแต่ละดอลลาร์ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน แม้อาจมีการให้เงินสนับสนุนเกษตรกรเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าคนเหล่านั้นต้องทำงานสร้างผลผลิต มิใช่การงอมืองอเท้ารอคอยให้รัฐเข้าช่วยเหลือ

การที่รัฐบาลให้เงินจำนวนมากแก่ประชาชนทุกคนไปจับจ่ายใช้สอยแบบฟรีๆ อาจมีข้อดีในแง่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น แต่เป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลที่ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในระยะยาว

เพราะรัฐสูญเสียโอกาสในการนำงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปพัฒนาศักยภาพความสามารถทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ปลายเหตุ

นั่นคือ เมื่อเงินที่ได้รับหมดไป เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่วังวนของความตกต่ำเหมือนเดิม เนื่องจากคนในชาติจำนวนมากไม่มีหนทางที่จะสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง

นอกจากนี้ การแจกเงินให้ประชาชนไปใช้ในการบริโภคก่อให้เกิดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์

ประการแรก เมื่อได้เงินมาง่าย ผู้คนย่อมไม่รู้คุณค่าของเงินนั้น เกิดนิสัยฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ประการถัดมา ประชาชนเมื่อได้รับเงินจากรัฐในครั้งแรก ย่อมเกิดความคาดหวังว่าจะต้องได้อีกในครั้งต่อไป แรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพความสามารถจึงลดลง มีอุปนิสัยเกียจคร้าน ไร้ความวิริยะอุตสาหะ

การใช้นโยบาย New Deal เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสะท้อนตัวตนและความเชื่อมั่นของ FDR ที่ว่า ความสำเร็จต้องมาจากความอดทน ความมานะพยายาม

เฉกเช่นการที่ตัวเขาแม้พิการเป็นโปลิโอแต่ได้ตั้งปณิธานอย่างแรงกล้าว่า ตราบใดที่เป็นผู้นำประเทศ ตราบนั้นจะไม่แสดงความอ่อนแอให้ประชาชนได้เห็นอย่างเด็ดขาด

นั่นคือ ทุกครั้งที่อยู่ต่อหน้าสาธารณชนเขาแม้ด้วยร่างกายไม่พร้อม แต่ก็หยัดยืนปราศรัยอย่างองอาจสง่างาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจให้กับประชาชนว่า แม้พวกเราจะอยู่ในภาวะที่แร้นแค้น อดอยาก เหมือนชีวิตอับจนหนทาง แต่หากมีจิตใจที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น ก็ย่อมฝ่าฟันอุปสรรคจนบรรลุเป้าหมายได้

ความสำเร็จของการพัฒนาชาติบ้านเมืองต้องมาจากความขยันหมั่นเพียร ความวิริยะอุตสาหะของประชาชนในชาติฉันใด นโยบายที่สร้างความสบาย ความเกียจคร้าน และความอ่อนแอ ด้วยการแจกเงินให้ประชาชนย่อมเป็นการบั่นทอนความเจริญของชาติ

ฉันนั้น...ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ขอสดุดี Franklin D. Roosevelt ผู้เป็นตำนานในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำได้อย่างยั่งยืน!