'นักวิชาการ' ห่วงสงครามอิสราเอลยืดเยื้อ ดัน 'กองทุนน้ำมัน' ติดลบแสนล้าน

'นักวิชาการ' ห่วงสงครามอิสราเอลยืดเยื้อ ดัน 'กองทุนน้ำมัน' ติดลบแสนล้าน

"พรายพล" ห่วงสงครามในอิสราเอลยืดเยื้อ ดันต้นทุนราคาพลังงาน หวั่นกองทุนน้ำมันฯ ติดลบแสนล้านอีกครั้งช่วงสิ้นปี “พิพัฒน์” ชี้สงครามขยายตัวรับภาระหนักที่ตรึงดีเซล 30 บาท “จิติพล” คาดราคาน้ำมันพุ่งสูงสุด 95 ดอลลาร์ "พลังงาน” ดึงมาตรการ “ลดภาษี-กองทุนน้ำมัน” อุ้มราคา

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (องค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์) ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้นทันที 3-4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถึงแม้จะมีการปรับตัวลง แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์ไทยและต่างประเทศต่างกังวล คือ ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องหากสงครามยืดเยื้อ

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทิศทางราคาและสถานการณ์ราคาพลังงานในกรณีอิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย รวมถึงสหรัฐมาร่วมวงความขัดแย้งสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส สถานการณ์จะยืดเยื้อแน่นอน

ทั้งนี้ อิสราเอลคงพยายามกวาดล้างกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจใช้เวลาในการส่งทหารเข้าฉนวนกาซา แต่การจะขยายกรอบวงกว้างหรือไม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งตอนนี้เปิดศึกทางเหนือแล้วและไม่รู้จะมีอะไรเพิ่มจากนี้อีกหรือไม่

“คนจะเข้าร่วมมีตั้งแต่อิหร่านไปถึงสหรัฐ มีประเด็นคือจะหนุนหลังถึงขนาดขยายวงกว้างหรือเปล่า ถ้าขยายวงกว้างจะกระทบซัพพลายเชนพลังงานแน่นอน เพราะอียิปต์ อินเดียหรืออิรัก ประเทศใกล้เคียง มีทั้งผู้ผลิตและเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน รวมถึงแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยเชื่อมระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ แม้จะไม่ใช่แหล่งใหญ่แต่จะได้รับผลกระทบด้วย”

นายพรายพล กล่าวว่า หากราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นจะกังวลสถานะการเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่มีโอกาสติดลบถึง 1.3 แสนล้านบาท เหมือนช่วงที่ต้องอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนช่วงโควิด ซึ่งปัจจุบันติดลบ 6.8 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยใช้เงินกองทุนวันละ 400 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าหนักพอสมควร

นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกจะพุ่งไม่มาก แต่สถานะกองทุนฯ แย่ลงและหากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้นอีกระดับกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลติดต่อกัน ภายในสิ้นปี 2566 จะทำให้กองทุนฯ ติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทได้ จึงต้องจับตาว่าสงครามครั้งนี้จะขยายวงหรือไม่ ส่วนการขาดแคลนพลังงานในไทยถือว่าไม่มีปัญหา

“จากนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเห็นว่ามีความตั้งหน้าตั้งตาที่จะลดราคาน้ำมัน และราคาพลังงานอยู่แล้ว ไม่ว่าราคาตลาดโลกจะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งสำคัญในทุกกรณี ประชาชนคนไทยหากสามารถประหยัดได้ควรช่วยกันประหยัดพลังงาน ไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาคอยช่วยเหลือ ถ้าประหยัดได้จะช่วยทั้งตัวเองและช่วยลดการบริโภคพลังงานที่มาจากการนำเข้าได้อีกช่องทาง”

ห่วงภาระหนักอุ้มราคาน้ำมัน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ผลกระทบหลักจากสงครามในอิสราเอลต่อไทยมีจำกัด เพราะไทยส่งออกไปอิสราเอลเพียง 0.2-0.3% ต่อปี หรือ 800 ล้านดอลลาร์

สำหรับผลกระทบทางอ้อมหากสงครามขยายตัวเมื่อมีผู้เล่นอื่น เช่น สหรัฐและจีน อาจกดดันซัพพลายน้ำมันโลกทำให้ราคาสูงขึ้นและส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมันราคาแพงขึ้นจนขาดดุลการค้า รวมทั้งราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจริงอาจกระทบดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะปัจจุบันรัฐบาลอยู่ช่วงอุ้มราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท ดังนั้นหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็จะเป็นภาระของรัฐบาลอย่างมาก

ทั้งนี้ สถานการณ์ยังทรงตัวอยู่และเป็นไปได้น้อยที่จะขยายเป็นสงครามตัวแทน ดังนั้นหากสงครามจำกัดในอิสราเอลและปาเลสไตน์อาจกระทบอุปทานน้ำมันโลกไม่มาก เพราะบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ฐานผลิตน้ำมันหลัก รวมทั้งไม่ใช่ช่องทางเดินเรือขนส่งน้ำมันหลัก

“สถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนอดีต ตอนนี้อิทธิพลด้านน้ำมันในตะวันออกกลางรวมทั้งของโอเปกน้อยลง และสหรัฐเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิไม่ใช่นำเข้า ดังนั้นเชื่อว่าผลกระทบไม่ขยายวงกว้างนัก”

คาดราคาสูงสุด95ดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์​ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลกระทบต่อไทยจำกัด และแนวโน้มสงครามขยายตัวอยู่ระดับต่ำ แต่สาเหตุที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงยังผันผวนเพราะนักลงทุนกังวลภาวะสงคราม โดยความขัดแย้งหลายครั้งที่ผ่านมา เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ อีก 2-3 สัปดาห์ตลาดจะเลิกสนใจข่าวนี้มากขึ้น

ทั้งนี้ หากในกรณีที่เลวร้ายสุดสงครามขยายตัว ราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงสุดแค่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะที่ผ่านมาตลาดรับแรงกดดันซัพพลายน้ำมันหดตัวจากการที่กลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตน้ำมันมาแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเศรษฐกิจยังพอรับสถานการณ์น้ำมันข้างต้นไหว แต่หากเงินบาทอ่อนค่าลงด้วยอาจส่งผลให้การเกินดุลการค้าไทยลดลงจนถึงขาดดุลได้

สงครามดัน“วอร์พรีเมียม”น้ำมัน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ราคาพลังงานทุกสถานการณ์ ซึ่งยังคงเชื่อว่าการสู้รบดังกล่าวจะส่งผลต่อราคาพลังงานในกรอบไม่น่ากังวล

ทั้งนี้ บริษัท บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ประเมินสถานการณ์โดยเรียกผลกระทบว่า War premium หรือ ราคาพรีเมียมที่เกิดจากสงครามที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันกระโดดช่วงสั้น ไม่เหมือนสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน แต่อิสราเอลเป็นประเทศนำเข้า 90% อาจส่งออกบ้างในประเทศใกล้เคียงแต่ไม่มาก ส่วนการปิดเส้นทางการเดินเรือก็ไม่มีประเด็น

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีความกังวลสถานการณ์ราคาพลังงาน และให้เตรียมรับมือทุกสถานการณ์ แบ่งเป็น

1.ความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสัดส่วน 57% และนำเข้า LNG สัดส่วน 33% จากหลากหลายแหล่ง โดยกระทรวงพลังงานเตรียมปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 70 วัน เป็นปริมาณในประเทศ 45 วัน และกำลังขนส่งทางเรือ 25 วัน

โดยปริมาณการสำรองน้ำมันดิบปัจจุบันมีอยู่ในในปริมาณ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้ 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

“โชคดีที่ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ราคาตกต่อเนื่อง 15 ดอลลาร์ พอมีสงครามขยับขึ้นมา 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คิดเป็นเงินเงินบาทที่ 60-80 สตางค์ ถือเป็นราคาที่ไม่กระโดด”

เล็งหารือต่ออายุลดภาษีดีเซล

2.ดูแลราคาพลังงาน โดยในปี 2567 จะหารือกรมสรรพสามิตขอให้ขยายเวลาลดการจัดเก็บภาษีดีเซล จากเดิมลดจัดเก็บลง 2.50 บาทต่อลิตร ซึ่งครบกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.2566 พร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ กำลังกู้เงินที่ยังเหลือวงเงิน 50,333 ล้านบาท เข้าบัญชีเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศ ตาม พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยลงนามสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท จากวงเงิน 150,000 ล้านบาท ปัจจุบัน เบิกเงินกู้ยืมแล้ว 55,000 ล้านบาท โดยฐานะกองทุนฯ วันที่ 8 ต.ค.2566 ติดลบ 68,327 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,005 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกกองทุนฯ เป็นเครื่องมือหลักบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสม โดยเฉพาะดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร และก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. ส่วนมาตรการช่วยเหลือเบนซินเฉพาะกลุ่มได้เสนอนายพีระพันธุ์แล้ว