'พลังงาน' พร้อมรับมือสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส' ย้ำไทยสำรองน้ำมัน 70 วัน

'พลังงาน' พร้อมรับมือสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส' ย้ำไทยสำรองน้ำมัน 70 วัน

"พลังงาน" ถกผลกระทบ "อิสราเอล-ฮามาส" ไม่กังวลสำรองน้ำมัน70วัน ลุ้นราคาแอลเอ็นจี-ก๊าซเอราวัณส่งผลค่าไฟต้นปี 2567 หารือคลังติดโซลาร์แลกลดภาษี

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อรับมือสถานการณ์ราคาพลังงานจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ประเมินสถานการณ์ราคาพลังงานจากผลกระทบการสู้รบของอิสราเอลและฮามาสช่วงที่ผ่านมา โดยราคามีการขึ้นลงแกว่งในกรอบไม่น่ากังวล แต่กระทรวงพลังงานจะเฝ้าระวังราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารราคาดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ดังนั้น ขอประชาชนไม่ต้องกังวลว่าน้ำมันจะขาดแคลนเพราะไทยมีน้ามันสำรองใช้นานถึง 70 วัน

สำหรับแนวโน้มราคาค่าไฟงวดปีหน้าคือเดือนม.ค.-เม.ย.2567 ต้องพิจารณาแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงอีกครั้ง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในแหล่งเอราวัณที่จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนเม.ย. 2567 ตามสัญญา จากปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากราคาแอลเอ็นจีลดลงและปริมาณก๊าซฯตามแผนจะส่งผลดีต่อค่าไฟ จากปัจจุบันรัฐบาลสั่งลดราคาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ช่วยรับภาระก่อน

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน จะสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในภาคประชาชนและภาคธุรกิจ อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน (โซลาร์รูฟท็อป) การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาโรงงาน เบื้องต้นได้หารือกับกระทรวงการคลังขอสนับสนุนเครื่องมือด้านภาษีเพื่อกระตุ้นผู้ลงทุนทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้นำการลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ คล้ายนโยบายช็อปช่วยชาติ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานรัฐติดโซลาร์โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ให้หน่วยงานเติร์ดปาร์ตี้ อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เข้ามาบริหารจัดการ ตลอดจนการบำรุงรักษาทั้งระบบ จะช่วยลดค่าไฟลง 15-20% คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 3-6 เดือน โดยจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ในช่วง 6 เดือน กระทรวงพลังงานมีแผนเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน  200 เมกะวัตต์ ขณะนี้ได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว มีแผนสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า เน้นปลูกพืชพลังานในพื้นที่ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจไม่ได้ หรือปลูกแล้วแต่ราคาไม่ดี โดยจะจับคู่กับสายส่ง กำหนดพื้นที่รับซื้อ ให้ชุมชนเป็นผู้เลือกผู้ผลิตไฟฟ้า เน้นผลิตไฟใช้ในชุมชน หากเหลือให้ขายเข้าระบบได้ โดยกระทรวงพลังงานจะหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติรับซื้อไฟต่อไป