'พลังงาน' นัดถกแผนรับมือสงคราม หวั่นซ้ำเติม 'บาทอ่อน' ดันต้นทุนนำเข้าพุ่ง

'พลังงาน' นัดถกแผนรับมือสงคราม หวั่นซ้ำเติม 'บาทอ่อน' ดันต้นทุนนำเข้าพุ่ง

“พีระพันธุ์” มอบหมาย “ปลัดพลังงาน” ถกแผนรับมือวิกฤติพลังงาน 12 ต.ค.นี้ สนพ.ห่วงสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” ซ้ำเติมต้นทุนนำเข้าน้ำมันจากเงินบาทอ่อนค่า หลังสงครามดันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้น 4 ดอลลาร์ “นักวิเคราะห์” ห่วงยืดเยื้อกระทบราคาน้ำมัน

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (องค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์) ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ที่มีการเปิดตลาดซื้อขายในสัปดาห์นี้ โดยทิศทางราคาพลังงานดังกล่าวทำให้กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องเตรียมรับมือตามแผนรองรับวิกฤติด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เตรียมแผนรับมือราคาพลังงาน โดยวันที่ 12 ต.ค. 2566 นายประเสริฐ จะหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อรับฟังแผนรองรับราคาพลังงานในส่วนที่แต่ละหน่วยงานได้รับผิดชอบมานำเสนอ รวมถึงมอบหมายให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เตรียมแผนงานมานำเสนอด้วยเช่นกัน

นายประเสริฐ กล่าวว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นจะกังวลผลต่อราคาพลังงานโลก เพราะตะวันออกกลางเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก และแม้ราคาน้ำมันแกว่งตัวในช่วงแคบแต่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤติและร่วมกันใช้น้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสถานการณ์นี้อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดอาจสูงขึ้นได้ แต่คงไม่นานนัก เพราะจากข้อมูลก็ได้มีการเจรจาเพื่อสงบศึกดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ น้ำมันดิบราคาพลิกฟื้นกลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน หลังถูกเทขายมานานหลายสัปดาห์ จากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบความต้องการทั่วโลก

“พลังงาน”ห่วงซ้ำเติมบาทอ่อน

นอกจากนี้ สนพ.เคยคาดการณ์ราคาน้ำมันครึ่งหลังปี 2566 น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 91-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งมีสัญญาณในการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศตะวันตก และยังมีปัจจัยจากซาอุดิอาระเบียที่จะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตที่ต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ดังนั้น จากคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไม่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในสิ้นปีนี้ก็น่าจะเป็นไปตามนั้น

“สิ่งที่กังวลมากกว่า คือ อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก โดยหากอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงในทุก 1 บาท จะส่งผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 0.70 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันตลาดโลกโดยเฉลี่ยหากมีราคาปรับขึ้น 1 ดอลลาร์จะกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยที่ 0.20 บาท" 

ทั้งนี้ สนพ.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานต่อประชาชนในระยะต่อไป

\'พลังงาน\' นัดถกแผนรับมือสงคราม หวั่นซ้ำเติม \'บาทอ่อน\' ดันต้นทุนนำเข้าพุ่ง

จัดแผนบริหารสต๊อก-ราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเตรียมรับมือวิกฤติพลังงานจะพิจารณา 2 ส่วน ประกอบด้วย

1.ความมั่นคงของเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้ 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

ในขณะที่ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร

2.การดูแลราคาพลังงาน โดยปัจจุบันในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาน้ำมันขายปลีกและก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันคงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท และก๊าซหุงต้มที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 8 ต.ค.2566 ติดลบ 68,327 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้มติดลบ 45,005 ล้านบาท 

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) นำวงเงินกู้ยืมที่ยังเหลืออีก 50,333 ล้านบาท เข้าบัญชีเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศตาม พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ซึ่ง สกนช.ได้ทยอยกู้ยืมเงินโดยสอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 โดยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ปัจจุบัน เบิกเงินกู้ยืมแล้ว 55,000 ล้านบาท

คาดสงครามหนุนราคาขึ้นชั่วคราว

นายวิเวก ธาร์ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของธนาคารคอมมอนเวลธ์ ระบุในรายงานว่า เหตุการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันให้พุ่งขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

“การที่ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างยาวนาน เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้จะกระทบต่อการขนส่งน้ำมัน และทำให้ปริมาณน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ปฏิกริยาที่หนุนราคาน้ำมันมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และมักถูกบดบังจากปัจจัยอื่น” รายงานระบุ

ทั้งนี้ อิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยอิสราเอลมีโรงกลั่นน้ำมันเพียง 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันราว 300,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ปาเลสไตน์ไม่มีการผลิตน้ำมัน

ความเห็นของนักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากธนาคารคอมมอนเวลธ์ ไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ที่ระบุว่า หากความขัดแย้งไม่บานปลาย ผลกระทบจากเหตุขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นไปอย่างจำกัด

นายแวนดานา ฮาริ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร แวนดา อินไซต์ กล่าวว่า นักลงทุนได้เห็นราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นเมื่อตลาดเปิดในวันจันทร์ (9 ต.ค.) และราคามีแนวโน้มจะคงตัวในระดับสูงจนกว่าตลาดจะวางใจได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ และอุปทานน้ำมันและก๊าซของตะวันออกกลางจะไม่ได้รับผลกระทบ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ค่อนข้างมั่นใจว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้เล่นน้ำมันรายใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีบทบาทหลักต่อการผลิตน้ำมันก็ทำให้ไม่อาจวางใจได้

หวั่นสถานการณ์สงครามลุกลาม

นักวิเคราะห์ต่างจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหวั่นเกรงว่าสถานการณ์อาจมีแนวโน้มลุกลามต่อไป ขณะที่ฮาริ มีความเห็นว่า แม้ความขัดแย้งจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตหรืออุปทานน้ำมัน แต่ก็ยังคงอยู่ใกล้แค่เอื้อมของภูมิภาคที่ผลิตและส่งออกน้ำมันที่สำคัญ

ไอแมน นาสเซริ กรรมการผู้จัดการฝ่ายที่ปรึกษาด้านพลังงานในตะวันออกกลาง ซึ่งให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า ผลกระทบต่อราคาน้ำมันจะเป็นไปอย่างจำกัด นอกเสียจากว่า ตลาดจะเห็นว่าสงครามของทั้งสองฝ่ายขยายตัวอย่างรวดเร็วไปสู่สงครามระดับภูมิภาคที่สหรัฐ และอิหร่าน และผู้สนับสนุนอื่นๆ ของทั้งสองฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

ขณะที่ ปิแอร์ แอนดูแรนด์ นักธุรกิจและผู้จัดการกองทุนป้องกันความเสี่ยงชาวฝรั่งเศส มีความเห็นว่า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ที่ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ สงครามจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในระยะสั้น ดังนั้นราคาน้ำมันแม้จะขยับขึ้นแต่ไม่น่าจะขยับพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ แต่หากยืดเยื้อออกไป ในที่สุดสถานการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานและราคา เนื่องจากสต๊อกน้ำมันทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ และการลดการผลิตของกลุ่มโอเปกทำให้โลกมีแนวโน้มต้องดึงน้ำมันจากสต๊อกเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งในที่สุดตลาดจะต้องร้องขออุปทานของซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันปรับตัวลงหลังพุ่งกว่า4%

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ที่ตลาดไนเม็กซ์ วันอังคาร(10ต.ค.)ปรับตัวร่วงลงหลังจากปรับตัวขึ้นกว่า 4% เมื่อวันจันทร์(9ต.ค.)ท่ามกลางการซื้อขายอย่างระมัดระวัง และจับตามองสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส ที่ยืดเยื้อย่างเข้าสู่วันที่ 4 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับตัวลง 7 เซนต์ เคลื่อนไหวที่ 86.31 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนือ ร่วงลง 9 เซนต์ ปิดที่ 88.06 ดอลลาร์/บาร์เรล