เทรนด์ธุรกิจควบรวมพุ่ง 4 ปี 137 ราย มูลค่าทะลุ 4 ล้านล้านบาท

เทรนด์ธุรกิจควบรวมพุ่ง 4 ปี 137 ราย มูลค่าทะลุ 4 ล้านล้านบาท

กขค.เปิดสถิติการควบรวมธุรกิจ ปี 2562-2566 จำนวน 137 รายมูลค่า 4.27 ล้านล้านบาท เผยกว่าครึ่งของมูลค่าการควบรวมธุรกิจเป็น 2 บิ๊กดีล ด้าน “ค้าปลีกและพลังงาน” รวมกันมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านบาท คาดแนวโน้มควบรวมธุรกิจเพิ่มขึ้น

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้สรุปสถิติการรวมธุรกิตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 มีจำนวน 137 ราย แยกเป็นการขออนุญาตรวมธุรกิจ 12 ราย และการแจ้งผลการรวมธุรกิจ 125 ราย โดยจำนวนการรวมธุรกิจจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ  สินค้าอุตสาหกรรม 43 กรณี ธุรกิจการเงิน 26 กรณี บริการ 26 กรณี เกษตรและอาหาร 14 กรณี สินค้าอุปโภคบริโภค 13 กรณี อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 10 กรณี เทคโนโลยี 4  กรณีและทรัพยากร 2 กรณี

โดยมูลค่าธุรกรรมการรวมธุรกิจในประเทศไทย มูลค่าทั้งหมด  4.27 ล้านล้านบาท แยกเป็นปี 2562 มูลค่า  660,893 ล้านบาท ปี2563 มูลค่า 485,542 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 2,060,000 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่า 681,726 ล้านบาท และปี 2566 (ณ เดือนก.ย.) มูลค่า 377,459 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปี 2565 เป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 42 เรื่อง มีมูลค่า 681,726 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแม้ปี 65 จะมีการควบรวมธุรกิจจำนวนมากที่สุดแต่มูลค่าการรวมธุรกิจก็ยังน้อยกว่าปี 2564  ที่มีจำนวนรวมธุรกิจ  32 เรื่อง รวมมูลค่า 2,060,000 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าการรวมธุรกิจมากที่สุดในสถิติ 4  ปี เพราะปีนี้มีการควบธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของประเทศ ไทยคือ การควบรวมบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด  (ซีพีและโลตัส) ซึ่งมีมูลค่ากว่า   3.38 แสนล้านบาท 

ล่าสุดปี 2566 มีการขอนุญาตควบรวมธุรกิจต่อบอร์แข่งขันทางการค้าเพียง  1 กรณีเท่านั้น  คือเป็นการรวมธุรกิจด้านพลังงานของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมมูลค่าของ 2 ธุรกิจนี้ก็เกือบ 4 แสนล้านบาทแล้ว

เทรนด์ธุรกิจควบรวมพุ่ง 4 ปี 137 ราย มูลค่าทะลุ 4 ล้านล้านบาท

เมื่อดูถึงสัดส่วนมูลค่าธุรกรรมการรวมธุรกิจรายอุตสาหกรรม พบว่า  ธุรกิจบริการสูงสุด 27.14 %  รองลงมาเป็นธุรกิจการเงิน 22.95 % สินค้าอุตสาหกรรม 21.98% สินค้าอุปโภคบริโภค 17.5 %  เทคโนโลยี 6.23 % ทรัพยากร  2.90 % เกษตรและอาหาร 1.38 % อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 0.26 %

ในส่วนของเรื่องร้องเรียนและการรวมธุรกิจในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา  พบว่า  มีการรับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 46 เรื่อง แยกเรื่องร้องเรียนออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. จำแนกตามประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 10 เรื่อง ธุรกิจบริการอื่น ๆ และเฟรนไชส์ จำนวน 22 เรื่อง ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 9 เรื่อง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 1 เรื่อง และธุรกิจพลังงาน จำนวน 1 เรื่อง

2.จำแนกตามพฤติกรรม ได้แก่ การใช้อำนาวเหนือตลาดไม่เป็นธรรม (มาตรา 50) จำนวน 2 เรื่อง การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกัน (มาตรา 54) จำนวน 3 เรื่องการปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม (มาตรา 57) จำนวน 19 เรื่อง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนที่เข้าข่ายการกระทำความผิดในหลายมาตรา ได้แก่ การใช้อำนาจเหนือตลาดและการตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและไม่ใช่ตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง

ส่วนการใช้อำนาจเหนือตลาดและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 2 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน    1 เรื่อง การขอคุ้มครองชั่วคราว (มาตรา 60) จำนวน 1 เรื่อง และเรื่องที่ไม่รับเป็นเรื่องร้องเรียน จำนวน 16 เรื่อง ในด้านการลงโทษ มีการกำหนดโทษปรับทางปกครอง จำนวน 25 คำสั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ในด้านการรวมธุรกิจ สำนักงาน กขค. ได้รับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ จำนวนรวมทั้งสิ้น 28 เรื่อง แบ่งเป็น  1. การแจ้งผลการรวมธุรกิจ จำนวน 26 เรื่อง จำแนกตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ ธุรกิจการเงิน จำนวน 5 เรื่อง ธุรกิจบริการ จำนวน 4 เรื่อง สินค้าอุตสาหกรรม จำนวน 12 เรื่อง สินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 1 เรื่อง และอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง จำนวน 4 เรื่อง รวมมูลค่าการรวมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เป็นจำนวนกว่า 316,128 ล้านบาท

 2. การขออนุญาตรวมธุรกิจ จำนวน 2 เรื่อง จำแนกตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ จำนวน 1 เรื่อง และสินค้าอุตสาหกรรม จำนวน 1 เรื่อง รวมมูลค่าการรวมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เป็นจำนวนกว่า 75,946 ล้านบาท

จากสถิติการควบรวมธุรกิจจะเห็นว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันทางการค้ามีมากขึ้น  การควบรวมธุรกิจเพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันและเพื่อความอยู่รอดจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย