‘เศรษฐกิจไทย’ เหมือนนักกีฬาสูงวัย พ้นกับดักรายได้ปานกลางยากขึ้น

‘เศรษฐกิจไทย’ เหมือนนักกีฬาสูงวัย พ้นกับดักรายได้ปานกลางยากขึ้น

“นักเศรษฐศาสตร์” ร่วมเวที Economic Outlook 2024 กรุงเทพธุรกิจ มองทิศทางเศรษฐกิจไทยเปรียบเหมือนนักกีฬาสูงวัย ต้องแข่งขันบนเวทีที่สร้างมูลค่าสูง ห่วงไทยจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ยากขึ้น

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 โดยมีนักเศรษฐศาสตร์มีนำเสนอทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ในหัวข้อ “The Risk and Opportunity โอกาส ก้าวข้ามความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2024”

นายสันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาอาวุโส Global Counsel และอดีตกรรมการผู้จัดการ Sea Ltd กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถูกมองว่าอยู่ระดับกลางของอาเซียน โดยความน่าสนใจในเรื่องการเข้ามาลงทุนน้อยกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนิเซียและมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเพราะความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านเศรษฐกิจน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต

สำหรับโอกาสของไทยแม้ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และการลงทุนของบริษัทระดับโลกเริ่มออกจากจีน เพื่อขยายการลงทุนในอาเซียน แต่ไทยไม่ใช่จุดหมายปลายทางแรกของการย้ายฐานลงทุน โดยการมาลงทุนไทยเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังจากลงทุนบางประเทศมากแล้ว เช่น อินโดนีเซียหรือเวียดนาม แต่แม้ว่าเหตุผลนั้นเราต้องคว้าโอกาสนั้นไว้เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้หากเทียบเศรษฐกิจไทยวันนี้เหมือนนักกีฬาสูงวัยที่มีอาการป่วย และปัญหาของการเป็นนักกีฬาสูงวัย คือ การแก้ปัญหาหลายอย่างต้องใช้เวลา และสมรรถนะร่างกายที่ตกลงก็เหมือนกับเศรษฐกิจที่เติบโตลดลง จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% และปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% 

นอกจากนี้ในช่วงที่การฟื้นตัวจากโควิด-19 สิ่งที่เห็น คือ หลายประเทศมีช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูงไประดับ 7-8% แต่เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ 1-2% ซึ่งสะท้อนศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลงชัดเจน

“เมื่อรัฐบาลต้องการมีเศรษฐกิจที่เติบโตก็ต้องหวังการกระตุ้น ซึ่งปัญหาที่ตามมามีผลข้างเคียงเช่น หนี้สูงขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและหนี้สาธารณะ เหมือนนักกีฬาที่ถูกบังคับให้เล่นทั้งที่มีอาการบาดเจ็บหรือใช้ยากระตุ้นระยะสั้น สุดท้ายจะมีอาการบาดเจ็บตาม”

‘เศรษฐกิจไทย’ เหมือนนักกีฬาสูงวัย พ้นกับดักรายได้ปานกลางยากขึ้น

รวมทั้งความเสี่ยงของไทยที่มากที่สุด คือ การเป็นนักกีฬาที่ถูกลืมจากเวทีโลก ทำอย่างไรให้นักกีฬาสูงวัยกลับมาเป็นผู้เล่นตัวจริงได้ เพราะหากมองไปแล้วนักกีฬาสูงวัยหลายคนยังเล่นได้โดดเด่น และมีอย่างน้อย 4 ข้อที่ทำได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยแข่งขันต่อไปได้ ดังนี้

1.การออกไปหาตลาดและเชิญชวนการลงทุนจากภายนอกประเทศ ซึ่งเรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกำลังทำอยู่ เพราะเรื่องนี้เปรียบไปแล้วก็เหมือนนักกีฬาสูงวันที่แมวมองจะไม่มาหาเรา เราต้องไปหาแมวมองเองแล้วบอกว่าประเทศไทยเหมาะที่จะลงทุนอย่างไร ไปเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่เพื่อให้เข้ามาลงทุนในไทย

2.การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตต่อไปได้ เหมือนกับนักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง การผ่าตัดของเราคือการผ่าตัดกฎกติกาที่เป็นอุสรรคต่อการทำธุรกิจ (regulatory guillotine) ซึ่งทำให้ต้นทุนของธุรกิจลดลง และอุปสรรคในการทำธุรกิจลดลงด้วยซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

3.ประเทศไทยต้องเป็นนักกีฬาที่เล่นให้ฉลาดมากขึ้น หมายความว่าเล่นบทบาทที่ชาญฉลาดมากขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งต้องพัฒนาแรงงานในประเทศที่มีทักษะมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะเรื่อง AI Transformation ปรับทักษะ (Re skills)

4.การใช้ยากระตุ้น ซึ่งนักกีฬาสูงวัยบางครั้งก็ต้องใช้บ้าง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นบางทีก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะกระสุนทางการคลังมีน้อยลง ต้องใช้อย่างระวัดระวังและต้องทำด้วยความโปร่งใส และการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องช่วยให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวได้ด้วย

‘เศรษฐกิจไทย’ เหมือนนักกีฬาสูงวัย พ้นกับดักรายได้ปานกลางยากขึ้น

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ (TDRI) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีมานาน และเมื่อมองไปยังอนาคตมีความท้าทายมากที่จะสร้างการเติบโตในระยะต่อไป เพราะจำนวนแรงงานไทยลดลงและเข้าสู่สังคมสูงวัย

ทั้งนี้เมื่อไทยมีแรงงานลดลงทำให้เป้าหมายทางเศรษฐกิจในการออกจากกับดักรายได้ปานกลางยากขึ้นและใช้เวลามากขึ้น โดยหากดูมิติตัวชี้วัดรายได้ต่อหัวประชากร (GNI per capita) ซึ่งเป้าหมายที่ไทยตั้งไว้ว่าจะไปสู่ประเทศรายได้ระดับสูงนั้นไทยเราเดินไปได้แค่ 54.8% ของเป้าหมาย เพราะที่ผ่านมา 10 ปี เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี 

ซึ่งหากเติบโตระดับนี้ต่อไปกว่าที่จะบรรลุการเป็นประเทศรายได้ระดับสูงในปี 2043 จะถูกขยับไปปี 2048 ขณะที่เวียดนามประกาศบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2050 สะท้อนว่าไทยกำลังล้าหลังและถูกจับคู่กับประเทศที่เคยอยู่ข้างหลังเรามากขึ้น

นอกจากนี้การที่จำนวนแรงงานลดลงทำให้รายได้เฉลี่ยที่แท้จริงของไทยหลังหักรายได้ของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยและรวมรายได้คนไทยในต่างประเทศ พบว่ารายได้ที่แท้จริงของคนไทยขาดดุล 5 แสนล้านบาท

ขณะที่การฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้งพบว่าไทยฟื้นตัวช้าและเติบโตเศรษฐกิจลดลง เช่นการผ่านวิกฤติโควิด-19 ล่าช้าและเต็มไปด้วยบาดแผล ได้แก่ การเกิดหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจและหนี้ภาครัฐ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ภาคครัวเรือน ธุรกิจและภาครัฐมีหนี้สูงกว่าเดิมมาก ขณะที่ภาครัฐมีกระสุนน้อยลง และการดำเนินนโยบบายที่มุ่งเน้นเรื่องระยะสั้นจะกระทบจุดที่เกิดต้นทุนเชิงนโยบายที่สูง

ขณะที่หลังโควิด-19 การพึ่งพาเศรษฐกิจบางประเทศที่ไทยเคยพึ่งพาได้เช่นเศรษฐกิจจีนจะพึ่งพาได้น้อยลง เนื่องจากว่าจีนอาจจะไม่ได้มีบทบาทเข้ามาช่วยในการผลิตของโลกมากในจังหวะมีปัญหาเศรษฐกิจภายในจริง และคาดว่าจีนต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ปัญหานี้ รวมทั้งปัญหาเรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอกล่าวด้วยว่าโอกาสของประเทศไทยที่ควรทำมี 7 เรื่อง ได้แก่

1.เพิ่มมาร์เก็ตแชร์ของผู้ส่งออกรายใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น 

2.ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ว่าเราควรใช้ประโยชน์ให้ได้จากมหาอำนาจทั้งสองทางจริงๆ และหาข้อได้เปรียบจากการเจรจา 

3.การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ให้ได้ประโยชน์กับเศรษฐกิจจริงๆ วางแผนว่าจะผลักดันอย่างไร 

4.ใช้ประโยชน์จากการขยายการคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีของจีน เช่น การเชื่อมต่อสินค้าของไทยไปขายในจีนผ่านรถไฟจีน-ลาว 

5.แสวงหาจุดหมายปลายทางใหม่ว่าจะหาความร่วมมือในระเบียบโลกใหม่และความร่วมมือใหม่ได้อย่างไร 

6.ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายที่มีประโยชน์เช่น BCG การพัฒนาอย่างยั่งยืน 

7.มุ่งไปสู่การผลิตสินค้า อุตสาหกรรมใหม่ที่ตรงกับความต้องการของโลก

‘เศรษฐกิจไทย’ เหมือนนักกีฬาสูงวัย พ้นกับดักรายได้ปานกลางยากขึ้น

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะมี 3 เทรนด์ใหญ่ที่เป็นความท้าทาย เรื่องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สอง ความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) สาม สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด ซึ่งจะเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ท้ังน้ำท่วมและภัยแล้ง ที่จะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างในปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยคิดเป็น 11% ของจีดีพี

สำหรับความสนใจหลักเรื่องภูมิรัฐศาสตร์จะอยู่ที่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) ระหว่างสหรัฐและจีนที่เป็นยักษ์ใหญ่ 2 ตลาด ซึ่งโจทย์สำคัญของภูมิภาคอาเซียนและไทยเองคือจะอยู่ร่วมกับทั้งสองขั้วอำนาจนี้อย่างไร

“รายงานของธนาคารโลกมีตัวเลขที่น่าสนใจ เรื่องการส่งออกจากอาเซียนไปยังตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นในบางหมวด โดยไทยส่งออกอยู่ที่อันดับ 3-4 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การส่งออกจากอาเซียนไปจีนนั้นจะพบว่า มาเลเซียและอินโดนีเซียได้ประโยชน์จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนไทยกลับไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากไทยยังไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าในการส่งออกเข้าไปในจีน”

ดังนั้นจึงต้องมองภาพใหญ่ในระยะยาวที่น่ากังวลว่าสงครามการค้าจะทำให้ระดับการค้าขายโดยรวมลดลงหรือไม่ แม้ในระยะสั้นอาจจะเห็นภาพบวกของบางหมวดหมู่สินค้าก็ตาม เนื่องจากสหรัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการผลิตในประเทศมากขึ้น อาทิ Inflation Reduction Act และ Chips Act

ขณะที่ในมิติด้านความรู้ การร่วมมือการทำวิจัยและจดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด และชัดเจนยิ่งขึ้นหลังมีการบังคับใช้ Chips Act

แต่สำหรับไทยพบว่ามีความร่วมมือกับจีนมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้าได้ต้องพึ่งความร่วมมือทางความรู้และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในภาคการบริการที่ไทยมีศักยภาพสูง และขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตำแหน่งประเทศไทยใน Global Supply Chain ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าการผลิตของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ยังเป็นการใช้แรงงานเพื่อการประกอบ (Labor Assembly) เนื่องจากมีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ก้าวข้ามไปไม่ได้

ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องสังคมสูงวัยน่ากังวลว่าจะเกิดความยากจนมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงคนวัยทำงานที่จะปรับตัวยากขึ้น

“หากประเมินภาพเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังค่อยข้างดี ประเทศไทยไม่ใช่นักวิ่งที่ป่วย แต่เราเคยบาดเจ็บและมีความกลัว ทั้งที่จริงเราวิ่งได้เร็วกว่านี้ หลายอย่างเป็นข้อจำกัดที่เราสร้างขึ้นเอง ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดนโยบายใหม่”