'สุรพงษ์' เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.เปิดช่องเจรจา 'บีอีเอ็ม' เดินรถ

'สุรพงษ์' เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.เปิดช่องเจรจา 'บีอีเอ็ม' เดินรถ

“สุรพงษ์” เปิดนโยบายก่อสร้างล่วงเวลา หวังดันงานโยธา “รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” แล้วเสร็จคืนผิวจราจรก่อนกำหนด ขณะที่ รฟม.เผยผลงานคืบหน้ากว่า 18% คาดเปิดบริการปี 2571 จ่อประมูลงานเดินรถ ชงบอร์ดเคาะรูปแบบสิ้นปีนี้ ลั่นเจรจา BEM เป็นแนวทางคุ้มค่าที่สุด

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยระบุว่า ขณะนี้งานก่อสร้างมีความคืบหน้า 18.68% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 และตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จ เปิดให้บริการได้ภายในปี 2571

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้รับรายงานผลกระทบของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าว มีการปิดพื้นที่ก่อสร้างและทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งตนได้ลงพื้นที่พร้อมสั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประสานทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ เพื่อวางแผนขยายเวลาการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จและคืนผิวจราจรได้เร็วกว่ากำหนดเดิมที่ รฟม.วางไว้ในเดือน ส.ค.2567

\'สุรพงษ์\' เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.เปิดช่องเจรจา \'บีอีเอ็ม\' เดินรถ

ขณะเดียวกัน ตนได้สั่งการให้ รฟม. ดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจรเพิ่มเติม อาทิ

1. ให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด

2. จุดที่มีการรื้อสะพานลอย ให้จัดทำจุดข้ามทางม้าลายทดแทน และจัดเจ้าหน้าที่อาสาจราจรทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

3. จัดเรียงแบริเออร์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่กีดขวางการสัญจรของประชาชน และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือน ไฟส่องสว่างต่างๆ ให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน

4. ในกรณีที่มีปัญหาจราจรติดขัดหรือเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน ให้มีการประสานบูรณาการทำงานร่วมกับตำรวจจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อจัดการจราจรและบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชน

5. ดำเนินการเยียวยาประชาชนที่อยู่ตามแนวสายทางก่อสร้างโครงการฯ ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าในแนวสายทางโครงการ เป็นต้น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ MRT สายสีน้ำเงิน

\'สุรพงษ์\' เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.เปิดช่องเจรจา \'บีอีเอ็ม\' เดินรถ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพื่อจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดหาเอกชนบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนเอกชนร่วมลงทุนรัฐ (พีพีพี) ซึ่งจะต้องเสนอโครงการไปยังกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการพีพีพี และคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับแนวทางศึกษาเบื้องต้น พบว่าการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในวิธีเจรจากับเอกชนรายเดิมผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นวิธีการที่คุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากโมเดลที่ศึกษาไว้ประเมินว่าการมีเอกชนเดินรถรายเดียวจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระบบ อีกทั้งยังทำให้สามารถคุมต้นทุนได้มากกว่าการมีเอกชนเดินรถสองราย ซึ่งเมื่อต้นทุนไม่สูงก็จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง

“การเดินรถไฟฟ้า รฟม.คำนึงถึงบริการผู้โดยสารเป็นอันดับแรก ดังนั้นการมีเอกชนเดินรถรายเดียวจะทำให้สะดวกมากกว่า ซึ่งรูปแบบก็จะไม่ต่างไปจากสายสีน้ำเงินหรือสายสีเขียว ที่ทำให้ผู้โดยสารเดินทางต่อระบบสะดวก โมเดลที่ทำมาจึงมองว่าควรเจรจากับเอกชนรายเดิม เพื่อเข้ามาเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ด้วย”

นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า รูปแบบของการร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็มีโอกาสที่จะเปิดร่วมทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ที่ทางภาครัฐเป็นผู้รับความเสี่ยง กรรมสิทธิ์จัดเก็บรายได้จะยังเป็นของภาครัฐ ส่วนเอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง และภาครัฐจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตามสัญญา

ทั้งนี้ ข้อดีของการจัดทำ PPP Gross Cost จะจูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากกว่า เพราะไม่ต้องใช้วงเงินลงทุนจำนวนสูง ในขณะเดียวกันภาครัฐยังเป็นเจ้าของกรรรมสิทธิ์จัดเก็บรายได้ ทำให้สามารถคุมราคาค่าโดยสารให้เหมาะสม อย่างไรก็ดี หาก ครม.มีมติให้เจรจากับเอกชนรายเดิมเข้ามาบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะต้องเริ่มขั้นตอนเจรจาภายในปี 2569 หรือก่อนงงานโยธาแล้วเสร็จ 3 ปี ซึ่งเบื้องต้น รฟม.ประเมินว่างานโยธาจะแล้วเสร็จภายในปี 2571 เพื่อเปิดบริการในปี 2572

\'สุรพงษ์\' เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.เปิดช่องเจรจา \'บีอีเอ็ม\' เดินรถ