'มนพร' เข็นรายได้ ขสมก.-การท่าเรือฯ ลุยตรวจการบ้านทุก 3 เดือน

'มนพร' เข็นรายได้ ขสมก.-การท่าเรือฯ ลุยตรวจการบ้านทุก 3 เดือน

“กระทรวงคมนาคม” มีหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และโครงการที่จะเป็นพื้นฐานการพัฒนาประเทศ หลังรัฐบาลใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ทิศทางการกำกับดูแล และบริหารหน่วยงานต่างๆ จะมีผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ “เครือเนชั่น” ถึงนโยบายในการกำกับดูแล 5 หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับมอบหมาย โดยระบุว่า นโยบายการทำงานของตนที่ได้กำชับให้ทุกหน่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลคือ การทำงานให้โปร่งใส ไม่ให้มีการซื้อตำแหน่ง และจะต้องทำงานเพื่อประชาชนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีโครงการคั่งค้าง ให้เร่งดำเนินการทบทวนแผนทุกอย่าง และตนจะตรวจสอบการทำงานทุก 3 เดือน และ 6 เดือน เพื่อให้งานเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับหน่วยงานแรกที่ได้สั่งการกับผู้บริหารถึงแนวทางการทำงานหลังจากนี้คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยปัจจุบันนับเป็นหน่วยงานที่มีผลขาดทุนต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผลการดำเนินงานด้านการเงิน พบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท แต่กลับมีค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางการเงิน เฉลี่ยต่อปี 1.25 หมื่นล้าน และผลขาดทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมียอดหนี้สะสมสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท

“หลังจากคุยกับผู้บริหาร ขสมก. ก็พบว่าภาระหนักที่ทำให้องค์กรขาดทุนต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนค่าซ่อมรถที่มีเฉลี่ยปีละ 1.9 พันล้านบาท หาก ขสมก.สามารถเร่งรัดการจัดหารถเมล์ใหม่ ในลักษณะเช่าเอกชน ก็จะทำให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมส่วนนี้ และจะเป็นผลดีต่อต้นทุนลดลง และหากมีรถเมล์ใหม่ งานบริการที่ดีขึ้น ก็จะทำให้ ขสมก.กลับมาทำกำไร และออกจากแผนฟื้นฟูได้”

\'มนพร\' เข็นรายได้ ขสมก.-การท่าเรือฯ ลุยตรวจการบ้านทุก 3 เดือน

โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ ขสมก.เร่งรัดจัดทำแผนจัดหารถโดยสารใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นเช่ารถเพื่อไม่ให้มีต้นทุนค่าซ่อม ปรับใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้งานบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ ขสมก.รายงานแผนจัดหารถโดยสารนี้กลับภายใน 6 เดือน เพื่อเตรียมดำเนินการจัดหารถ หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนจะเร่งดำเนินการหลังจากนี้

สำหรับแผนจัดหารถโดยสาร เบื้องต้นทราบว่า ขสมก.จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

  • ระยะที่ 1 จัดหารถโดยสารจำนวน 224 คัน มูลค่า 341 ล้านบาท
  • ระยะที่ 2 จัดหารถโดยสาร จำนวน 1,020 คัน มูลค่า 1,939 ล้านบาท
  • ระยะที่ 3 จำนวน 769 คัน มูลค่า 3,201 ล้านบาท

โดยจะจัดหาด้วยวิธีการเช่า ภายในระยะเวลาประมาณ 3 – 5 ปี คาดว่าจะลดต้นทุนทางการเงินได้ทันทีประมาณ 60% ประกอบด้วย ค่าเหมาซ่อม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าประกันภัย เป็นต้น

อีกทั้งแนวทางการหารายได้ที่ยั่งยืนของ ขสมก. คือ การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดรายได้ เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก.มีพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวนมาก โดยเฉพาะอู่รถเมล์ต่างๆ ที่อยู่ในแหล่งชุมชน เป็นที่ดินที่มีศักยภาพในการหารายได้ ดังนั้นขอให้ ขสมก.เร่งทำแผนพัฒนาที่ดินเหล่านี้ มองแนวทางเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อเร่งพัฒนาพื้นที่ทันที และทำให้เกิดรายได้จากการเช่าพื้นที่แก่ ขสมก. โดยเบื้องต้นทราบว่า ขสมก.อยู่ระหว่างเตรียมนำร่องพัฒนาพื้นที่บริเวณอู่บางเขน และอู่มีนบุรี คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมใน 6 เดือนนี้

\'มนพร\' เข็นรายได้ ขสมก.-การท่าเรือฯ ลุยตรวจการบ้านทุก 3 เดือน

มนพร ยังเผยด้วยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีศักยภาพในการหารายได้ ซึ่งได้มอบนโยบายให้ กทท.ทบทวนแผนพัฒนาที่ดินบริเวณท่าเรือกรุงเทพ หรือย่านคลองเตย ซึ่งมีพื้นที่พร้อมพัฒนาอยู่ประมาณ 19 ไร่ ให้รองรับการท่องเที่ยว และแหล่งชอปปิงแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ คล้ายกับโครงการคอมมูนิตี้ริมน้ำต่างๆ โดยขอให้ กทท.ทบทวนแผนพัฒนาและนำมาเสนอภายใน 6 เดือนนี้

“มอบหมายให้ผู้บริหารการท่าเรือลงพื้นที่ไปคุยกับประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาที่ดินบริเวณนั้น ซึ่งนอกจากแผนพัฒนาคอมมูนิตี้ต่างๆ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของพนักงาน สร้างที่อยู่อาศัยให้พนักงาน และประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องโยกย้าย ผลักดันท่าเรือกรุงเทพ ให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Port”

ขณะที่นโยบายในการขับเคลื่อนอีก 3 หน่วยงานในสังกัด มีกำหนดเดินทางไปตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายกรมเจ้าท่าในวันที่ 4 ต.ค.นี้ ซึ่งจะสั่งการให้กรมเจ้าท่ารวบรวมข้อมูลท่าเรือทั้งหมด วางแผนพัฒนาไม่ให้เป็นท่าเรือร้าง รวมทั้งจะประสานกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยว สนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ

ส่วนสถาบันการบินพลเรือน เนื่องจากขณะนี้พบว่าสถาบันฯ มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่จำกัดเกินไป ต้องเพิ่มหลักสูตรการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน อาทิ หลักสูตรพัฒนาช่างซ่อมอากาศยาน และหลักสูตรด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจรมากขึ้น

ด้านบริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด นั้น สัญญาบริหารโรงแรมภายใต้เครือโรงแรมโนโวเทล (Novotel) จะหมดสัญญาในปี 2567 ขณะนี้ตนได้สั่งการให้พิจารณาไม่ต่อสัญญากับเครือโรงแรมดังกล่าว เพื่อนำโรงแรมกลับมาบริหารภายใต้ชื่อ โรงแรมสุวรรณภูมิ

การกำหนดแนวทางการทำงานที่ดีจะนำไปสู่ผลงานที่ดี และผลงานที่ดีก็จะสร้างประโยชน์ที่ดีให้ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งโครงการต่างๆ และแนวนโยบายที่ได้เล่าผ่าน “มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม” จะเป็นอีกความหวังที่จะทำให้การพัฒนาและความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์