'สุริยะ' เตรียมพร้อมสนามบินรองรับฟรีวีซ่า คาดผู้โดยสารจีนพุ่งเท่าตัว
“สุริยะ” เตรียมความพร้อมท่าอากาศยานรับนโยบายฟรีวีซ่า คาดผู้โดยสารพุ่งเท่าตัวกว่า 1.8 หมื่นคนต่อวัน หนุนเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนฟื้น 5 ล้านคน ด้าน ทอท.ประสานตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มช่องบริการรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถานตามนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล พร้อมระบุว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนดนโยบายมาตรการฟรีวีซ่า ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566 - 2567 ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับเทศกาลวันชาติของจีน คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาล จากเดิมเฉลี่ย 72 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 96 เที่ยวบินต่อวัน และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย จากเดิม 9,680 คนต่อวัน เป็น 18,656 คนต่อวัน ส่งผลให้ภาพรวมในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุดตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย
ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต และให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ทอท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว บริหารจัดการท่าอากาศยานให้การบริการมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมาตรการสำหรับผู้โดยสารขาเข้า ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เตรียมประจำการเต็มช่องตรวจหนังสือเดินทาง ทั้ง 138 ช่อง ในชั่วโมงหนาแน่น และเตรียมเครื่องตรวจอัตโนมัติ 16 เครื่อง ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน
ขณะที่ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ กำกับดูแลและติดตามเวลาการจัดส่งสัมภาระให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกำชับให้ผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน จัดเตรียมอัตรากำลังและอุปกรณ์ให้เต็มขีดความสามารถและสอดคล้องกับเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนการเช็กอิน โดยได้ประสานสายการบินจัดให้มีพนักงานให้บริการเช็กอินเต็มทั้ง 302 เคาน์เตอร์ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บริการเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) และใช้บริการเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) อีกทั้งยังได้เพิ่มเติมการทำ Early Check-in
ส่วนขั้นตอนจุดตรวจค้น จัดเจ้าหน้าที่เกลี่ยแถวผู้โดยสารให้สามารถเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 3 โซน ในปริมาณใกล้เคียงกัน เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ตรวจค้น ประกอบด้วย เครื่องเอ็กซเรย์ 25 เครื่อง ที่ได้ติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) แล้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน
และขั้นตอนการตรวจลงตรา สำหรับผู้โดยสารขาออก ประสานเจ้าหน้าที่ ตม. ให้นั่งเต็ม 69 ช่องตรวจ ในช่วงเวลาเร่งด่วน และเตรียมเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คน ในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. จะได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด และการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ