นายกฯแบ่งงานดึง ‘การลงทุน’ ‘ภูมิธรรม’ ดู 'EEC' ‘ปานปรีย์’ ดู 'BOI'

นายกฯแบ่งงานดึง ‘การลงทุน’  ‘ภูมิธรรม’ ดู 'EEC' ‘ปานปรีย์’ ดู 'BOI'

นายกฯ ผ่างานดึงลงทุน มอบ “ภูมิธรรม” คุมงานอีอีซี “ปานปรีย์” คุมบีโอไอดึงต่างชาติลงทุน “พรหมินทร์” ยืนยันไร้ปัญหา ระบุรัฐบาลหนุนอีอีซีต่อ พร้อมเจรจารายใหญ่ดึงการลงทุนจากต่างชาติ ชงรัฐบาลใหม่เร่งเคลียร์ 2 โครงการยังไม่เริ่มก่อสร้าง “รถไฟความเร็วสูง-อู่ตะเภา”

นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ในขณะที่หลายฝ่ายมีความกังวลถึงการขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีหลังจากมีรัฐบาลใหม่

ในขณะที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะมีการต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ไม่มีการระบุที่ชัดเจนในนโยบายรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนอีอีซี

นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายการทูตเชิงรุกเพื่อเศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งจะใช้นโยบายการทูตเพื่อเร่งรัดการลงทุนด้วยการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อดึงดูดการลงทุนที่จะช่วยวางรากฐานให้เศรษฐกิจในระยะยาว

การมอบหมายงานของนายกรัฐมนตรีให้รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่ผ่านมาจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนเดียวกำกับดูแลงานด้านการลงทุน ส่วนรัฐบาลปัจจุบันได้มีการแบ่งงานกำกับดูแลการลงทุน ดังนี้ 1.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กำกับดูแลบีโอไอ 2.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแล สกพอ.

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแบ่งงานของนายกรัฐมนตรีให้รองนายกรัฐมนตรี 2 คน กำกับดูแลงานด้านการลงทุน ว่า ไม่น่ามีปัญหาในทางบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาลเพราะตอนนี้เราถือเป็นรัฐบาลเดียวกัน และรัฐบาลได้มีการปรึกษากันตลอดเวลาในเรื่องนโยบายต่างๆ

นายกฯแบ่งงานดึง ‘การลงทุน’  ‘ภูมิธรรม’ ดู \'EEC\' ‘ปานปรีย์’ ดู \'BOI\'

“อย่าลืมว่านายกรัฐมนตรี พูดตลอดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชนที่จะทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น”

ยืนยันเดินหน้า“อีอีซี”ต่อ

ส่วนประเด็นที่มีคำถามว่ารัฐบาลจะผลักดันนโยบายอีอีซีต่อหรือไม่ น.พ.พรหมินทร์ กล่าวว่า นโยบายอีอีซีเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาที่มีการดำเนินการมาต่อเนื่องมีนักลงทุนเข้ามาจำนวนมากที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยรัฐบาลปัจจุบันจะมีการส่งเสริมต่อเนื่องไป แต่ก็อาจจะมีอะไรใหม่ๆขึ้นมา ที่สำคัญคือการชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นรายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงการลงทุนเข้ามาในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้น

เมื่อถามว่าในเรื่องการแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลหน่วยงานเศรษฐกิจ ตอนนี้ก็มีการแบ่งงานไปมากแล้วหลายหน่วยงาน ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการแปลงนโนบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาให้ไปสู่ทางปฏิบัติ ส่วนหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆที่ยังไม่ได้แบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล เช่น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “สสปน.” ก็จะมีการปรึกษากับท่านนายกรัฐมนตรี และแบ่งงานให้กำกับดูแลต่อไป

น.พ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ในการเดินทางไปยังสหรัฐของนายกรัฐมนตรีและคณะในวันที่ 19-24 ก.ย.2566จะได้พบกับกลุ่มนักธุรกิจที่มีความสำคัญในระดับโลกหลายท่าน

ชงรัฐบาลเร่งเคลียร์2โครงการ

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า การขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีมีประเด็นที่ต้องเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง 2 โครงการ ประกอบด้วย 

1.การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยจะแก้ไขสัญญาส่วนที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการดำเนินโครงการกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย และหากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจะเริ่มก่อสร้าง 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลงนามสัญญามาเกือบ 4 ปี แล้ว ลงนามตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  และบริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด แต่ยังเริ่มก่อสร้างไม่ได้ รวมทั้งบริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด ได้ยื่อขอให้รัฐบาลเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และนำมาสู่การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

2.โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา อยู่ระหว่างกองทัพเรือประกาศประกวดราคาทางวิ่งที่ 2 ซึ่งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกลงนามมาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.2563 ระหว่าง สกพอ.และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด โดยเอกชนคู่สัญญาได้มีการปรับแผนการลงทุนเป็น 40,000 ล้าน ใช้กลยุทธ์แอร์พอร์ตซิตี้ ดึงผู้โดยสารเข้าไทยตามเป้าปีละ 60 ล้านคน เร่งดึงพันธมิตรต่างชาติ พร้อมเปิดปี 2570