ทีทีบีห่วงแจกเงินหมื่น 'ดัน' หนี้พุ่ง

บริบทหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลังเช่นกัน โดยแม้หนี้สาธารณะคงค้างของไทยยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สาธารณะ หรืออยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพีในเดือนกรกฎาคม

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb analytics นริศ สถาผลเดชา ระบุ  บริบทหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลังเช่นกัน โดยแม้หนี้สาธารณะคงค้างของไทยยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สาธารณะ หรืออยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพีในเดือนกรกฎาคม แต่การขาดดุลการคลังต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปี จากโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ สวนทางกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นประจำราว 3-5% ของจีดีพี และดันให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นปีละ 6-8% ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง จะทำให้หนี้สาธารณะไทยเสี่ยงแตะกรอบเพดานหนี้ที่ 70% ต่อจีดีพีภายในปี 2570 ซึ่งภาระการคลังจะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีข้อจำกัดในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มากขึ้นในอนาคต 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลใช้จ่ายในระดับที่สูงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ประกาศออกมา เช่น มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท หากสามารถทำได้จริงประเมินได้ว่าจะเพิ่มจีดีพีได้ประมาณ 0.5% ในปีหน้า แต่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และเป็นข้อจำกัดทางการคลังในอนาคต คาดการณ์ว่าหากเงินที่นำมาใช้มาตรการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มาจากเงินกู้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 65% GDP จากปัจจุบันที่ 61.7% และจะทำให้ชนเพดานที่ 70% ในช่วง 2-3 ปี

 

 

 

 

คาดจีดีพีปีนี้โต 2.8%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังจะขยายตัว 3.4% โดยมีแรงสนับสนุนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และแรงกระตุ้นบางส่วนผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (Free Visa) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่จะทยอยปรับดีขึ้นจากแรงส่งด้านราคาของสินค้ากลุ่มพลังงาน และอาหาร รวมถึงผลของฐานต่ำในปีก่อนหน้า 

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำรออยู่ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา แผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้มาก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตลอดครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวได้ 2.2% และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า จึงปรับลดประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2566 ลงจาก 3.2% เป็น 2.8% และในปี 2567 จาก 3.6% เป็น 3.2% 

สำหรับความเสี่ยงด้านต่ำจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) แรงส่งจากเศรษฐกิจจีนที่แผ่วกว่าที่คาด ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง  2) การฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคการผลิต และท่องเที่ยวที่แผ่วลง ท่ามกลางภาระหนี้สูง และแรงกดดันเงินเฟ้อ  3) ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งกระทบต่อผลผลิตการเกษตร และ 4) ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2567 และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์