'ภูฏาน' เดินหน้านโยบาย 'ความสุขมวลรวมภายในประเทศ 2.0' หวังฟื้น 'ศก.ล้มเหลว'

'ภูฏาน' เดินหน้านโยบาย 'ความสุขมวลรวมภายในประเทศ 2.0' หวังฟื้น 'ศก.ล้มเหลว'

"เชอริง ต๊อบเกย์" นายกรัฐมนตรีภูฏาน เดินหน้านโยบาย 'ความสุขมวลรวมภายในประเทศ 2.0' บ่งชี้มีการปรับปรุงนโยบายเก่า หลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ยืนยันประเทศยังคงยึดมั่นในความยั่งยืน

ปรัชญาการปกครองประเทศ “ความสุขมวลรวมภายในประเทศ” (Gross National Happiness: GNH) ของภูฏาน เป็นที่ทราบกันดีทั่วโลกว่า เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจ พร้อมกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน

แต่การเปิดตัวโรดแมป “ความสุขมวลรวมภายในประเทศ 2.0” ของ “เชอริง ต๊อบเกย์” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของภูฏานเมื่อไม่นานมานี้ บ่งชี้ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายดังกล่าวระดับหนึ่ง เนื่องจากประเทศประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจถึงขั้นที่นายกฯภูฏานเอ่ยว่า (เศรษฐกิจ) “กำลังสั่นคลอนจนแทบจะพังทลาย”

จีเอ็นเอช เป็นนโยบายเศรษฐกิจของภูฏานที่ใช้มานานนับตั้งแต่กษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาพัฒนาประเทศนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 แต่ด้วยอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงเกือบ 30% และประชากรราว 1 ใน 8 อยู่อย่างยากจนข้นแค้น ทำให้ภูฏานต้องฉุกคิดว่า นโยบายความสุขมวลรวมของชาติถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่

นายกฯตอบผ่านการสัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ว่า “ใช่ และ ไม่”

“ใช่ เราต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต” ต๊อบเกย์ กล่าว และเสริมต่อว่า แต่หลักการของจีเอ็นเอชจะไม่ถูกละทิ้ง

“เราไม่ต้องไปสนใจอะไรทั้งสิ้น? ไม่ เราสามารถเติบโตได้ และเราจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายกฯ ภูฏานกล่าว

เน้นความสมดุลไม่หวั่นล้มเหลว

จากโรดแมปล่าสุด ภูฏานเตรียมเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วยวิธีที่ยั่งยืน ยุติธรรม และมีความสมดุลควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางสังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องวัฒนธรรม และธรรมาภิบาลที่ดี

“ประเด็นเหล่านี้เราประสบความสำเร็จแล้ว เกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้” ต๊อบเกย์ กล่าว แต่ก็ส่งสัญญาณว่า นโยบายที่ใช้ในอดีตอาจให้ผลดีเพียงด้านเดียวมากเกินไป

“เรามีความระมัดระวังอย่างมาก อนุรักษนิมยมสูง เราจึงล้าหลังอยู่ ... เราล้มเหลวทางเศรฐกิจ” นากยกฯ ภูฏาน กล่าว และเผยด้วยว่า ประเทศได้เพิ่มความระมัดระวังต่อนโยบายการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน

“เรามีความระมัดระมังอย่างมากว่าเราจะเปิดประเทศรับผู้คนจากทั่วโลกอย่างไร ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล ... เรามีความอนุรักษนิยมมาก และระมัดระวังสุด ๆ” ต๊อบเกย์กล่าว และว่า หากภูฏานทำอะไรผิดพลาดไป นั่นก็เป็นเพราะประเทศให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และความอนุรักษนิยม

ยืนยันการท่องเที่ยวต้องยั่งยืน

ซีเอ็นบีซีระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูฏานฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดยในปี 2566 มีต่างชาติเข้าประเทศเพียง 1 ใน 3 ของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562

ภูฏานได้ปรับเปลี่ยน “ค่าธรรมเนียมพัฒนาความยั่งยืน” ที่เป็นที่ถกเถียงนั้น มา 3 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่เปิดประเทศในเดือน ก.ย. 2565 โดยครั้งแรกเรียกเก็บเงินสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อผู้ใหญ่ 1 คนต่อวัน หรือราว 7,300 บาทต่อคนต่อวัน หลังจากนั้นก็ปรับลดราคาลงอีก 2 ครั้ง จนค่าธรรมเนียมเหลือ 100 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน

ด้านนายกฯยังคงมองว่าค่าใช้จ่ายเดิมที่ 200 ดอลลาร์นั้น นักท่องเที่ยวล้วนยินดีจ่าย

“ด้วยความสัตย์จริง ผมคิดว่าค่าธรรมเนียมพัฒนาความยั่งยืน 200 ดอลลาร์ต่อวัน นักท่องเที่ยวหลายคนยินดีที่จะจ่าย”

ต็อบเกย์เผยว่า แม้การท่องเที่ยวแบบมวลชน (mass tourism) สามารถนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เศรษฐกิจ แต่ภูฏานยังคงไม่ละทิ้งนโยบายการท่องเที่ยวแบบ “High value, Low volume” หรือเน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ

อย่างไรก็ตาม นายกฯ บอกว่า ภูฏานยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มระดับการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันก็จะควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากอุตสหากรรมท่องเที่ยวของภูฏานที่กำลังเติบโต เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างงานที่เป็นที่ต้องการของคนหนุ่มสาวภูฏานที่มีความสามารถ

ตามข้อมูลของรอยเตอร์ ระบุว่า แรงงานหนุ่มสาวภูฏานหลายพันคนเลือกออกจากประเทศ เพื่อหาโอกาสทำงานในต่างประเทศ โดยในช่วงระยะเวลา 11 เดือน ก่อนถึงเดือน พ.ค. 2565 ประชากรภูฏาน 1.5% ย้ายไปอยู่ออสเตรเลียเพียงลำพัง เพื่อหางาน และเพิ่มทักษะต่าง ๆ

นายกฯภูฏานหวังว่า การปรับปรุงนโยบายชั่วคราวนี้ จะช่วยให้ประเทศมีเวลาสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยว รวมถึงผ่านการแทรกแซงอื่น ๆ

"แล้วลูกหลานของเราจะยังคงอยู่ที่นี่ ส่วนผู้ที่อยู่ต่างประเทศ ผู้ที่มีประสบการณ์อันล้ำค่า ก็จะกลับบ้าน” ต๊อบเกย์ กล่าว

 

อ้างอิง: CNBC