Rational Expectation และนโยบายแจกเงินดิจิทัล

Rational Expectation และนโยบายแจกเงินดิจิทัล

นโยบายแจกเงินดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นนโยบายที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นนโยบายที่แจกเงินอย่างถ้วนหน้าให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้งบประมาณสูงถึงประมาณ 550,000 ล้านบาท

ผู้เขียนเห็นว่ามี 4 ด่านสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติ

ด่านแรก ปัญหาด้านงบประมาณ (Budget Constraint) แหล่งที่มาของงบประมาณจำนวนมากนี้มาจากไหนและทำอย่างไรจึงจะอยู่ภายใต้วินัยการเงินการคลัง และไม่กระทบกับเพดานหนี้สาธารณะ และความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในอนาคต 

ด่านที่สอง ปัญหาด้านสมมติฐานของตัวคูณทวีทางการคลัง (fiscal multiplier effect) ซึ่งผู้ดำเนินนโยบายได้ตั้งไว้นั้นมีความเป็นไปได้และมีค่าที่เหมาะสมน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยจากที่รับฟังคำชี้แจงต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจนและเป็นทางการนัก

ผู้ดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลดูจะคาดหวังว่า ตัวคูณทวีทางการคลังจะมีค่าประมาณมากกว่า 2-3 ขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่สูงมากและถือเป็น “Big If” หรือสมมติฐานที่ตั้งไว้สูงเกินจริง 

จากการทบทวนวรรณกรรมด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า ตัวคูณทวีทางการคลังมีค่าไม่สูงมากนัก กล่าวคือ มีค่าน้อยกว่า 1 หรือมากกว่า 1 เพียงเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งขึ้นกับระเบียบวิธีในการประมาณค่าและขึ้นกับประเทศที่ศึกษา ทำให้ผลประโยชน์ของนโยบายไม่มากอย่างที่ตั้งใจไว้

ด่านที่สาม ปัญหาของการเข้าถึง (Inclusion) การใช้บล็อกเชนและดิจิทัลวอลเล็ตนั้นเหมาะสมหรือไม่ ทั้งในด้านการเข้าถึงของประชาชนในทุกระดับความรู้และต้นทุนในการพัฒนาระบบ มีทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ที่สะดวกกว่าและมีอยู่แล้วหากต้องการจะทำ 

ด่านที่สี่ ปัญหาในทางปฏิบัติ (Real World Problem) จะเกิดความบิดเบือนในการใช้เงินเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยมีแนวโน้มจะเกิดตลาดมืดในการแลกเงินเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ยังไม่ได้ต้องการใช้เงินตอนนี้ หรือต้องการแลกสินค้าที่ไม่มีในรัศมีบ้าน และอื่นๆ 

Rational Expectation และนโยบายแจกเงินดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอความชัดเจนที่เพิ่มขึ้นจากรัฐบาล เพื่อให้วิเคราะห์ด่านทั้ง 4 ข้างต้นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนอยากถอยออกมาในภาพกว้าง และหยิบยกประเด็นหัวใจที่สำคัญอีกประการของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เคยเกิดขึ้นและน่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

นั้นคือ บทบาทของ Rational Expectation ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้นโยบายที่ตั้งใจดี อาจไม่ได้รับผลตามที่คาดหวังและตั้งใจไว้ 

แนวคิดความคาดหวังอย่างมีเหตุผล หรือ Rational Expectation  เป็นแนวคิดสำคัญที่กล่าวถึงการที่บุคคลใช้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อสร้างความคาดหวังของตนเองต่ออนาคต เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ความคาดหวังเดิมจะได้รับการปรับปรุงใหม่เสมอ เพื่อสะท้อนความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

อิทธิพลของข้อมูลและการปรับเปลี่ยนความคาดหวังต่อสถานการณ์ในอนาคตมีส่วนสำคัญในด้านต่างๆ รวมถึงประสิทธิผลของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังด้วย

เมื่อมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้น บุคคลมักเริ่มเห็น “เงา” หรือ “เค้าลาง” ของภาษีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตแล้ว นั่นคือบทบาทของ Rational Expectation    เมื่อรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ผ่านการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น แนวคิด Rational Expectation ได้ชี้ว่า บุคคลในสังคมจะคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันจะส่งผลต่อการปรับขึ้นภาษีในอนาคต 

การคาดการณ์ภาระภาษีในอนาคตจะกระตุ้นให้บุคคลระมัดระวังที่จะใช้เงินมากขึ้น โดยอาจเพิ่มการออม และลดการบริโภคในปัจจุบันลง พฤติกรรมดังกล่าวจากมุมมองของแต่ละบุคคล เมื่อรวมกันเป็นสังคมก็สามารถลดผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นในทันที 

ดังนั้น เมื่อบุคคลได้รับเงินมาจากภาครัฐ จึงอาจเก็บเงินส่วนหนึ่งนั้นไว้ ไม่จ่ายออกไปทั้งหมดทันทีหรือหาวิธีเปลี่ยนแปลงเงินดังกล่าวเป็นเงินออมสำหรับอนาคต เช่น หากบังคับว่าต้องใช้เงินให้หมดภายใน 6 เดือน บุคคลจะนำเงินดังกล่าวไปแลกเป็นเงินสดหรือเครดิตใดๆ ก็ตามแบบมีส่วนลด

Rational Expectation และนโยบายแจกเงินดิจิทัล

เช่น ได้เงินมา 10,000 บาท ก็หาวิธีแลกเพื่อนำมาเก็บเป็นเงินสดในอนาคต เช่น 9,000 บาท  โดยยอมไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน ซึ่งอาจดำเนินการ “นอกตลาด” โดยการตกลงกันชำระด้วยเงินสด หรือผ่านการที่ร้านค้าตั้งราคาสินค้าหรืออัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด เช่น ซื้อสินค้าในราคาที่ตั้งไว้สูงกว่าปกติ แล้วได้เงินสดเป็นเงินทอนกลับไป

หรือแสวงหาวิธีหลบหลีกต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มากมายนอกระบบบล็อกเชน ซึ่งนำไปสู่การออมและการบริโภคในอนาคตมากกว่าการบริโภคในปัจจุบันตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ และการหมุนของเงินจะไม่หมุนหลายรอบอย่างที่คิด และตัวคูณทวีทางการคลังจะมีค่าต่ำลง

นอกจากนั้น การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น มักคาดการณ์ได้ว่าอาจทำให้รัฐบาลจำเป็นต้อง “กู้ยืม” เพิ่มขึ้นในอนาคต หากรัฐบาลกู้ยืมมาเพื่อเป็นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ บุคคลจะเกิดความกังวลว่า “อัตราดอกเบี้ย” คงจะสูงขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อรัฐบาลกู้ยืมเงินมากขึ้น รัฐบาลอาจต้องแข่งขันกับภาคเอกชนเพื่อหาเงินทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สภาพคล่องในระบบมีอยู่จำกัด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ 

การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต จึงส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนในอนาคต ธุรกิจที่คาดว่าต้นทุนการกู้ยืมจะสูงขึ้นจึงอาจเลือกที่จะ “ชะลอ” หรือ “ระงับโครงการ” ลงทุนลงไปก่อน หรือเรียกว่า “Crowding Out Effect” ซึ่งกัดกร่อนประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้.

Rational Expectation และนโยบายแจกเงินดิจิทัล