'โฮปเวลล์' ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต เอาผิด 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

'โฮปเวลล์' ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต เอาผิด 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

"โฮปเวลล์" ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต เอาผิด 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "ทวีเกียรติ-นครินทร์-จิรนิติ-นพดล-วิรุฬห์" ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 วินิฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ กรณีอำนาจรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 12 กันยายน 2566 บริษัท โฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 157/2566 ประกอบด้วย

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นจำเลยที่ 1

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นจำเลยที่ 2

นายจิรนิติ หะวานนท์ เป็นจำเลยที่ 3

นายนภดล เทพพิทักษ์ เป็นจำเลยที่ 4

นายวิรุฬห์ แสงเทียน เป็นจำเลยที่ 5

คำฟ้องโจทก์ระบุว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจตามสัญญาสัมปทานและสิทธิที่ได้รับจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 

และประกอบการระบบรถไฟชุมชนและทางด่วนยกระดับ และเพื่อจัดหาผลประโยชน์จากระบบดังกล่าวและจากที่ดินในพื้นที่สัมปทาน

จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ ต. 59/2563 คำวินิจฉัยที่ 5/2564 ระหว่าง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้อง โดยกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (หน่วยงานของรัฐทั้งสอง) เป็นผู้ร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน \'โฮปเวลล์\' ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต เอาผิด 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยจำเลยทั้งห้าวินิจฉัยว่า

“ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยเบื้องต้นมีว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 หรือไม่ เห็นว่าผู้ร้องมีความเห็นว่า

ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเกิดจากมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2544

และขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197

คดีมีปัญหาด้วยว่า มติดังกล่าวของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีลักษณะเป็นการออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการฟ้องหรือไม่ กรณีเป็นตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ….”

ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 213 \'โฮปเวลล์\' ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต เอาผิด 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทานกับโจทก์โดยชอบ ให้โจทก์เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานครโดยให้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟฟ้าชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ (สัญญาสัมปทาน)

ตามผลการเจรจาระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ Hopewell Holding Limited (Hong Kong) (โครงการโฮปเวลล์) สัญญาสัมปทานกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างทั้งหมด

โดยหน่วยงานของรัฐทั้งสองไม่ต้องลงทุนแม้แต่สตางค์แดงเดียว แต่หน่วยงานของรัฐทั้งสองจะได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทานทุกปี

ภายหลังกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้โจทก์เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานหลายช่วง

ทำให้การก่อสร้างล่าช้าและไม่อาจก่อสร้างให้สำเร็จได้และยังมีกรณีที่หน่วยงานของรัฐทั้งสองอนุมัติแบบก่อสร้างให้โจทก์ล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานด้วย

ที่สำคัญการบอกเลิกสัญญาของหน่วยงานทั้งสองมิได้กระทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน ซึ่งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้แล้วว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบ

และอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้หน่วยงานของรัฐทั้งสองคืนเงินค่าสัมปทานและชดใช้ค่าก่อสร้างให้โจทก์ รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท

คู่สัญญาฝ่ายรัฐยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองในส่วนของผู้ร้องเรียน (โจทก์ในคดีนี้) ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองมีคำบังคับให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐปฏิบัติให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา (อุทธรณ์) ของศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221- 223/2562 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2562

โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการ ด้วยการให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐปฏิบัติตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับ แต่วันที่คดีถึงที่สุด

จำเลยทั้งห้าต่างมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา กระทำการในหน้าที่โดยตรงโดยผิดกฎหมาย เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องเรียนของหน่วยงานของรัฐทั้งสอง คือ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งไม่อาจเป็นผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

อีกทั้งคำร้องดังกล่าวก็ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคสอง ที่จะต้องบรรยายการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ร้องให้ชัดเจนว่า เป็นการกระทำใด และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิของผู้ร้องอย่างไร แต่ในคำร้องไม่มีรายละเอียดดังกล่าว

อีกทั้งจำเลยทั้งห้ายังได้หยิบยกเอาประเด็นมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ 18/2545 มาพิจารณาว่า เป็นระเบียบและเป็นการออกระเบียบที่ไม่กระทำการตามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ทั้งๆ ที่หาก พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธี การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 และมาตรา 47 แล้ว

จำเลยทั้งห้าไม่อาจหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เลยเพราะบทบัญญัติในมาตรา 213 ไม่เป็นช่องทางให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของมติที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการกระทำทางตุลาการ

อีกทั้งหน่วยงานของรัฐทั้งสองมิใช่คู่ความในคดีตามมติดังกล่าว มติดังกล่าวมี ขึ้นประมาณ 18 ถึง 19 ปีก่อนที่ผู้ร้องเรียนจะยื่นคำร้องเรียนเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

จึงไม่อาจนำมาอ้างเป็นเหตุว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิและเสรีภาพของหน่วยงานรัฐทั้งสองตามคำร้องเรียนได้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่า

ขณะที่มีการประชุมของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวนับเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีก่อนที่หน่วยงานของรัฐทั้งสองจะยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจึงเป็นไปไม่ได้

โดยแน่แท้ที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ร่วมลงมติในเวลานั้น ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้หน่วยงานของรัฐทั้งสองได้รับความเสียหายในคดีที่จะเกิดในอีก 20 ปีข้างหน้า

ซึ่งในขณะที่มีมติก็มิได้กระทำละเมิดผู้ใดและไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใด และยังไม่ทราบว่าผู้ใดจะถูกละเมิดและได้รับความเสียหายในขณะนั้นด้วย

มติดังกล่าวจึงเป็นเพียงคำแนะนำหรือแนวทางให้ศาลปกครองในคดีต่างๆ นำไปปรับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมเท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลใด

อีกทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 47 (4) ได้บัญญัติไว้ เป็นข้อห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่นหรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว

ซึ่งศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์ ได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว การที่จำเลยทั้งห้านำประเด็นเรื่องมติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ 18/2545 ขึ้นมาวินิจฉัยทั้งที่เป็นคำร้องเรียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้ เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2563

และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังคือเรื่องพิจารณาที่ ต 24/2566 จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งห้า ได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยมีเจตนาพิเศษโดยทุจริตหรือโดยมิชอบเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทั้งสองได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว คือ ไม่ต้องคืนทรัพย์สินของโฮปเวลล์ ซึ่งเป็นเงินต้นรวมประมาณ 11,888 ล้านบาทให้โจทก์

การกระทำของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดครบองค์ประกอบการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว ขอให้ลงโทษข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91 พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวล กฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2526 มาตรา 4

โจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเอง

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้เพื่อตรวจคำฟ้อง ให้นัดฟังคำสั่ง หรือคำพิพากษา ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 9.30 นาฬิกา