ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ส.ค. ลดต่ำสุดในรอบปี สะท้อนเศรษฐกิจคู่ค้า-ไทย อ่อนแรง

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ส.ค. ลดต่ำสุดในรอบปี สะท้อนเศรษฐกิจคู่ค้า-ไทย อ่อนแรง

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เดือนส.ค. ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี รับผลส่งออกหดตัว สะท้อนเศรษฐกิจโลกและในประเทศส่งสัญญาณออ่อนแรง แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว ลดต้นทุนค่าครองชีพ และเดินหน้าดึงลงทุนเชิงรุกเป็นกลไกช่วยพยุงเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐจีน และยุโรป ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม ที่อาจทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ขาดความเป็นเอกภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนันสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟฟ้อที่ปรับตัวลดลง

"โดยคาดว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ อาทิ ฟรีวีซ่า จะช่วยให้นักท่องเที่ยวกลับมาตามเป้าอยู่ที่ 28-30 ล้านคน ทั้งนี้ยังมีโจทย์ที่จะต้องกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นด้วย"

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับตัวลดลง จาก 100.2 ในเดือนก.ค. เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและไม่แน่นอน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต อาทิ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงานที่เป็นการปรับลดลงและช่วยได้ในระยะสั้น แต่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ

โดย ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันและก๊าซ การสนับสนุนสินค้า SMEs เป็นต้น

ขณะที่เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ

รวมถึง เร่งรัดโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว ให้ดำเนินการลงทุนตามที่ได้รับอนุมัติ และจัดกิจกรรม Roadshow เชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน