ภูมิรัฐศาสตร์-ความมั่นคงอาหาร-สิ่งแวดล้อม เวทีดับบลิวทีโอ เร่งหาทางออก

ภูมิรัฐศาสตร์-ความมั่นคงอาหาร-สิ่งแวดล้อม  เวทีดับบลิวทีโอ เร่งหาทางออก

สมาชิกดับบลิวทีโอ เร่งหารือประเด็นเจรจา ทั้งปมอุดหนุนประมง ความมั่นคงทางอาหาร ปฏิรูปเกษตร ปฏิรูปองค์การการค้าโลก พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก่อนเคาะเพื่อเสนอต่อที่ประชุม WTO MC13 ต้นปีหน้า

การค้าโลกเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศไทยดังนั้น กติกาและองค์กรที่เกี่ยวกับการค้าย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านดีและด้านลบต่อประเทศไทยหากไม่มีการติดตามหรือร่วมดำเนินการอย่างเหมาะสม 

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลกหรือ WTO กำหนดจะจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 13 (WTO 13th Ministerial Conference : WTO MC13) ขึ้นที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 26-29 ก.พ. 2567 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสมาชิกได้หารือประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่หลังการประชุม MC12 เสร็จสิ้นไปในเดือนมิ.ย. 2565 โดยในขณะนี้มีประเด็นที่เจรจาและหารือกันหลายเรื่อง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีประเด็นใดที่จะเสนอให้รัฐมนตรีต้องเจรจาหรือตัดสินใจในปีหน้าบ้าง อย่างไรก็ตาม คาดว่าตั้งแต่เดือนก.ย.นี้ การเจรจาจะเร่งเครื่องเร็วมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาข้อยุติหรือตกลงกันได้บางเรื่องก่อนรัฐมนตรีการค้าจะพบกัน

โดยขณะนี้มีเรื่องที่สำคัญต่อประเทศไทยหลายเรื่อง ประกอบด้วย 1. การเจรจาต่อเนื่องเรื่องการอุดหนุนประมง เช่น การอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด การอุดหนุนประมงให้เรือที่ทำการประมงนอกน่านน้ำ การปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา การทำประมงพื้นบ้าน การแจ้งข้อมูลเรื่องการใช้แรงงานบังคับในเรือประมง และการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงในสาขาประมง เป็นต้น 

ภูมิรัฐศาสตร์-ความมั่นคงอาหาร-สิ่งแวดล้อม  เวทีดับบลิวทีโอ เร่งหาทางออก

ความมั่นคงอาหารท้าทายการค้าโลก 

2.การเจรจาเรื่องการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร นับเป็นความท้าทายสำคัญด้านการค้า โดยเฉพาะประเทศที่นำเข้าอาหารสุทธิ (คือผลิตอาหารเองไม่พอบริโภค ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร) ที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินค้าเกษตรอาหารหรือสินค้าราคาแพงขึ้น โดยประเด็นหารือ เน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกหรือลดอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าเกษตรอาหารของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และประเทศกำลังพัฒนาที่นำเข้าอาหารสุทธิ การจัดสรรสินเชื่อนำเข้าสินค้าเกษตรจากองค์กรทางการเงิน/ธนาคารระหว่างประเทศ การช่วยเหลือการพัฒนาภาคเกษตรและอาหาร 

ชี้การปฎิรูปเกษตรขับเคลื่อนช้า

3.การเจรจาปฏิรูปเกษตรที่ดำเนินมาหลายปีแล้ว ซึ่งเน้นเรื่องการลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้า การกำหนดแนวทางการใช้การอุดหนุนที่ไม่จำกัดมูลค่า การหารือเพื่อยกระดับความโปร่งใสในการใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น แต่การหารือในส่วนของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาคเกษตรเป็นไปค่อนข้างช้า เพราะท่าทีที่แตกต่างกันมากของประเทศต่าง ๆ ที่หลายประเทศไม่ต้องการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ปัจจุบัน

4.การปฏิรูปองค์การการค้าโลก ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีส่วนทำให้เรื่องการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ใน WTO กลายเป็นเรื่องที่มีการหารืออย่างเข้มข้น 

ภูมิรัฐศาสตร์กดดันการค้าโลก 

โดยแบ่งกลุ่มคร่าว ๆ ได้ 3 ส่วน คือ รื่องกระบวนการระงับข้อพิพาท การปรับปรุงกระบวนการการทำงานและการเจรจา และ การหารือเพื่อกำหนดหัวข้อการเจรจาเรื่องใหม่ ๆ เพื่อให้กฎเกณฑ์การค้าพหุภาคีทันสมัย โดยใน 3 ส่วนนี้ การปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดแต่ก็ยากที่สุดเช่นกัน เพราะสหรัฐเป็นประเทศหลักที่มีความเห็นไม่ตรงกับประเทศต่าง ๆ และยังคัดค้านการแต่งตั้งคณะผู้อุทธรณ์อยู่ ทำให้การระงับข้อพิพาทแบบ 2 ชั้นของ WTO ต้องหยุดชะงักไปหลายปีแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าสาระ จึงขึ้นอยู่กับการเมืองในวอชิงตันว่า จะแสดงความยืดหยุ่นมากน้อยเพียงใด สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับการทำงานของ WTO อาจจะตกลงกันได้ก่อนการประชุมรัฐมนตรี 

หารือหนักแผนการค้ากับสิ่งแวดล้อม

ส่วนประเด็นการเจรจาใหม่นั้น ขณะนี้กำลังมีการหารือหลายกลุ่มมาก โดยหัวข้อที่สมาชิกให้ความสนใจ ได้แก่ เรื่องการค้ากับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การทบทวนหลักเกณฑ์มาตรการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ข้อยกเว้นด้านความมั่นคง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น 

5.การเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดย เรื่อง e-commerce ล้วนเป็นประเด็นสำคัญต่อสภาพแวดล้อมของ e-commerce และเป็นหัวข้อที่ FTA หลายฉบับเจรจากันด้วย ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศไม่ต้องการร่วมเจรจาเพราะเห็นว่ากฎระเบียบในประเทศตนยังไม่พร้อม

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในเดือนต.ค.2566 จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าอาวุโส (Senior Officials’ Meeting : SOM) เพื่อพยายามสรุปความคืบหน้าการหารือเรื่องต่าง ๆ ก่อนการประชุมรัฐมนตรีโดยเฉพาะประเด็นที่เป็นเรื่องกระบวนการและไม่อ่อนไหว และเพื่อพยายามหาแนวโน้มท่าทีของประเทศต่าง ๆ รวมถึงความพร้อมในการตัดสินใจทางการเมือง (political will) ในเรื่องที่อ่อนไหวด้วย ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนข้างหน้าคาดว่าการเจรจาต่าง ๆ จะมีความเข้มข้นและรวดเร็วลงลึกมากขึ้นอย่างแน่นอน