เปิด 4 เหตุผล ‘เศรษฐกิจจีน’ ฟื้นช้า ‘สภาพัฒน์’ เฝ้าระวังผลกระทบไทย

เปิด 4 เหตุผล ‘เศรษฐกิจจีน’ ฟื้นช้า ‘สภาพัฒน์’ เฝ้าระวังผลกระทบไทย

"สศช."มองเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า 4 เหตุผลหลัก การลงทุนในจีนอยู่ในระดับต่ำ การใช้จ่ายในประเทศชะลอตัว ผลกระทบจากภาคส่งออกชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก และหนี้สาธารณะของจีนอยู่ในระดับสูงที่ 51.5% จับตาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจจีนในปี 2566 สะท้อนปัญหาของเศรษฐกิจภายในประเทศเนื่องจากเติบโตได้น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 4.5% ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 6.3% ขยายตัวสูงสุในรอบ 8 ไตรมาส

โดยรวมช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 5.5% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไปยังคงไม่สดใสและมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว

ในการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2566 ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าปัญหาเศรษฐกิจของจีนในขณะนี้ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนที่จะวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านปัญหาที่เกิดกับสถาบันการเงินที่เป็น Shadow Bank รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้นเป็นปัญหาทั้งหมด หรือว่ายังมีปัญหาอื่นๆซ่อนอยู่อีกหรือไม่ และหากจีนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้มากเนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับจีนมากทั้งเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว

“การบริหารเศรษฐกิจในระยะต่อไปต้องให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศด้วยเนื่องจากในระยะต่อไปเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในขณะนี้เศรษฐกิจจีนมีปัญหาพอสมควร ทั้งในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากนักว่าในที่สุดปัญหาดังกล่าวจะลามไปเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ หากจีนต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจก็จะกระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมรองรับไว้ด้วย”

เปิด 4 เหตุผล ‘เศรษฐกิจจีน’ ฟื้นช้า ‘สภาพัฒน์’ เฝ้าระวังผลกระทบไทย

ทั้งนี้ในรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ สศช.ได้ระบุถึงข้อจำกัดในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไปไว้ 4 ข้อได้แก่

1.การลงทุนในจีนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง และภาระหนี้สินในระดับสูง ส่งผลให้ยอดขายที่อยู่อาศัยและยอดสินเชื่อใหม่ที่ลดลง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 บริษัท China Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมรัพย์ขนาดใหญ่ของจีนที่ประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมากและได้ยื่นคำร้องขอความคุ้มครองจากเจ้าหนี้ในศาลล้มละลายของสหรัฐฯ ขณะที่ยังมีความเสี่ยงที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นจะผิดนัดชำระหนี้เช่นกัน

2.การใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มชะลอตัวภายหลังจากการเร่งใช้จ่ายไปในช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังข้อจำกัดจากอัตราการว่างงานของแรงงานอายุ 16-24 ปี (Young Unemployment Rate) ที่อยู่ในระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 21.3% ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ

การชะลอตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศควบคู่ไปกับการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลง 0.3% ต่ำสุดในรอบ 30 เดือน และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

 3.ภาคการผลิตและภาคการส่งออกสินค้าเผชิญกับข้อจำกัด ของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร

และ 4.หนี้สาธารณะของจีน อยู่ในระดับสูงที่ 51.5% ในไตรมาสแรกโดยเฉพาะหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ที่ 30.5% ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของการดำเนินมาตรการทางการคลังในระยะต่อไป

จีนเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

ภายใต้สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจส่งผลให้รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรทางการคลังที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้เสียภาษีรายย่อยที่มียอดขายต่อเดือนน้อยกว่า 100,000 หยวน รวมถึงการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการบริโภคในหมวดสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า (New Energy Vehicles: NEV) เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น

โดยธนาคารกลางจีน (The People's Bank of China: PBOC) ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะเวลา 1 ปีลงจาก 2.65% เป็น 2.50% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่มีการรายงานตัวเลขในปี 2557 นอกจากนี้ ยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repurchase Rate) ระยะเวลา 7 วันลงจาก1.9% เป็น1.8% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจ

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ สศช.คาดว่าจะขยายตัว 4.9% ในปี 2566 เร่งขึ้นจาก 3% ในปี 2565 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจในช่วง ครึ่งหลังของปีจะชะลอตัวลงตามการส่งออกและการผลิ9ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการด่าเนินมาตรการควบคุมการส่งออกเพิ่มเติม

รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Caixin PMI) ภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงไปอยู่ที่ 49.2 ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลง 15.4% เทียบกับการลดลง 13.9% ในเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่ต่ำสุดในรอบ 41 เดือน

ขณะที่การลงทุนยังเผชิญกับข้อจ่ากัดจากปัญหาการขาดสภาพคล่องและภาระหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งผลของฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลง 0.3% เทียบกับ 0% ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 30 เดือน

โดยเป็นผลมาจากการลดลงของราคาอาหารในหมวดเนื้อสัตว์และราคาเชื้อเพลิง ยานยนต์เป็นสำคัญ โดยการลดลงของราคาสินค้าสะท้อนความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แรงกดดันด้านอุปสงค์ อันเนื่องมาจากการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสะท้อนจากมูลค่าการค้าปลีกในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ขยายตัว 2.5% ชะลอตัวลงจาก 3.1% ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากการด่าเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพิ่มเติมของธนาคารกลางจีนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการด่าเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังอย่างต่อเนื่อง